ดูแลสุขภาพใจในที่ทำงานอย่างไรให้สอดคล้องกับธรรมชาติความเป็น Sensing / iNtuition

ในบทความที่แล้ว  ดูแลสุขภาพใจในที่ทำงานอย่างไร… สอดคล้องกับธรรมชาติความเป็น Extravert/ Introvert เราได้สำรวจวิธีการรับพลังงานโดยธรรมชาติของคนทั้งสองประเภท ซึ่งมีผลโดยตรงกับความเครียด รวมทั้งได้เรียนรู้เกี่ยวกับตัวกระตุ้นความเครียด พฤติกรรมภายใต้ความเครียด และเทคนิคในการดูแลใจของตัวเองในบริบทของความเป็น Extravert และ Introvert

วันนี้ เราจะมาชวนเรียนรู้เรื่องการดูแลสุขภาพใจเพิ่มเติมผ่านการทำความเข้าใจกับที่มาที่ไปของการมีไฟหรือหมดไฟในหมวดของการรับข้อมูล (Sensing – iNtuition) ซึ่งจะช่วยให้เราเล็งเห็นว่าเราต้องการข้อมูลแบบไหนก่อนตัดสินใจหรือแก้ปัญหา และเชื่อในข้อมูลแบบไหนมากกว่ากัน ระหว่าง

  • Sensing คนที่ถนัดรับข้อมูลผ่านประสาทสัมผัสทั้งห้า และ
  • iNtuition คนที่ถนัดรับข้อมูลผ่านญาณทัศนะ

Sensing คนที่ถนัดรับข้อมูลผ่านประสาทสัมผัสทั้งห้า

สรุปลักษณะนิสัย:

Sensing เป็นกลุ่มคนที่เชื่อในสิ่งที่สัมผัสจับต้องได้จริง ประสบการณ์ในอดีต และสิ่งที่ผ่านการพิสูจน์มาแล้ว พวกเขามักมองหารายละเอียด ความชัดเจน และวิธีการประยุกต์ใช้ข้อมูลหรือความรู้ที่ได้มา รวมทั้งผลลัพธ์ระยะสั้นและขั้นตอนการลงมือทำจริง


ตัวกระตุ้นความเครียดที่ให้ใจห่อเหี่ยวในที่ทำงาน
:

  1. ความคลุมเครือและการตัดสินใจโดยมีข้อมูลไม่เพียงพอ: คนประเภท Sensing ต้องการข้อมูลที่ชัดเจนและรายละเอียดที่เฉพาะเจาะจงในการทำงาน พวกเขามักไม่ชอบการต้องคาดเดาวัตถุประสงค์หรือความต้องการเพราะมักรู้สึกว่าเป็นการเสียเวลาและทำให้ลังเลเมื่อต้องลงมือทำหรือตัดสินใจ ความคลุมเครือและข้อมูลที่ไม่มากพอนี้นำไปสู่การทำงานที่ล่าช้าและเวลาที่นานขึ้นกว่าจะเห็นผลลัพธ์ ซึ่งส่งผลให้คนประเภท Sensing รู้สึกเครียด นอกจากนี้ ความไม่รู้ที่พ่วงมาด้วยมักทำให้รู้สึกไม่มั่นคงและกังวลใจมากขึ้นเรื่อยๆ
  2. การไม่ได้ใช้ประสบการณ์ในอดีตหรือสิ่งที่รู้: คนประเภท Sensing เรียนรู้และแบ่งปันข้อมูลได้ดีที่สุดผ่านการมีประสบการณ์กับสิ่งนั้นๆ พวกเขาอาจรู้สึกไม่แน่ใจและสงสัยในความสามารถของตัวเองหากต้องใช้ข้อมูลที่ไม่คุ้นเคยและวิธีการใหม่ๆ ที่ไม่เคยทำมาก่อนโดยไม่มีคำแนะนำที่ละเอียดหรือเป็นขั้นตอนเพียงพอ
  3. การคิดเชิงนามธรรมและเชิงทฤษฎี: แม้ว่า Sensing หลายคนจะสามารถจัดการกับข้อมูลเชิงนามธรรมได้ แต่โดยธรรมชาติ พวกเขามักสนใจการต่อยอดจากข้อมูลที่มีมากกว่าจากทฤษฎีหรือแนวคิด นอกจากนี้ การต่อยอดในเชิงนามธรรมมักต้องอาศัยการเชื่อมโยง การจับแพทเทิร์นของข้อมูล การเห็นภาพรวม และการเชื่อในความเป็นไปได้ ซึ่งคนประเภท Sensing ส่วนใหญ่ มักสนใจการลงมือทำ การคิดบนพื้นฐานของความเป็นจริง และการแก้ปัญหาไปทีละเปราะตามสถานการณ์ ณ ปัจจุบันมากกว่า
  4. การคุมภาพรวมและวางวิสัยทัศน์ระยะยาว: สองทักษะนี้มักจำเป็นต้องใช้การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและการปรับเปลี่ยนแผนการต่างๆ อยู่บ่อยครั้ง ซึ่งอาจทำให้คนประเภท Sensing ที่ชอบความเสถียร ความคุ้นเคย และการต้องการเห็นผลลัพธ์ที่ชัดเจนรู้สึกว่าการปรับตัวอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องนี้เป็นเรื่องที่ท้าทายและทำให้รู้สึกเครียดได้
  5. การสอนงานแบบโค้ชชิ่ง: การโค้ชชิ่งมักเน้นการเปิดพื้นที่ให้ผู้เรียนค้นหาคำตอบและออกแบบการเรียนรู้ด้วยตัวเองท่ามกลางความไม่รู้และการไม่มีประสบการณ์มีก่อน และมักเน้นไปที่การตั้งเป้าหมายระยะยาวและระดมสมองหาตัวเลือกต่างๆ มาทดลอง สิ่งเหล่านี้มักทำให้คนประเภท Sensing รู้สึกว่าไม่มีทิศทางหรือแนวทางที่แน่นอนชัดเจน หลายครั้ง อาจนำไปสู่ความรู้สึกไม่แน่ใจในความสามารถของตัวเองและกลัวการผิดพลาดได้

 

พฤติกรรมภายใต้ความเครียด:

  • หลีกเลี่ยงการเปลี่ยนแปลง อาจตั้งแง่กับสิ่งที่ไม่คุ้นเคย และสิ่งที่ให้ความรู้สึกไม่แน่นอน
  • เน้นรายละเอียดมากเกินไปจนมองไม่เห็นภาพรวม อาจจู้จี้เป็นพิเศษ หรือเน้นการลงมือทำอย่างหุนหันพลันแล่นมากเกินไป
  • พยายามอย่างหนักเพื่อพิสูจน์ความสำเร็จของตัวเองผ่านผลลัพธ์ที่วัดได้มากเกินความจำเป็น
  • คิดจินตนาการในแง่ลบ กังวลถึงสิ่งที่ยังมาไม่ถึงและความล้มเหลวที่อาจเกิดขึ้น

 

คำแนะนำเพื่อการดูแลตัวเอง:

  • วางแผนและจัดโครงสร้างระบบการทำงาน: จัดโครงสร้างและวางแผนการทำงานของตนอย่างเป็นระเบียบเพื่อช่วยให้เห็นภาพรวมและลิสต์รายการสิ่งที่ต้องทำ รวมทั้งลดความวิตกกังวลและความรู้สึกที่ไม่แน่นอน
  • ทำในสิ่งที่ได้ใช้ประสบการณ์จากอดีต: ลองหาโจทย์หรือเนื้องานที่สนับสนุนให้ได้ใช้ประสบการณ์ในอดีตเป็นหลักในการตัดสินใจหรือแก้ไขปัญหา หากไม่สามารถเป็นไปได้ ลองจัดสรรกิจกรรมนอกเหนือจากการทำงานให้มีโอกาสได้ใช้ประสบการณ์หรือได้ลงมือทำ เพื่อเพิ่มความมั่นใจในความสามารถของตัวเองและพัฒนาจุดแข็งอย่างต่อเนื่อง
  • สร้างเสริมประสบการณ์ให้กับตัวเอง: ในหลายๆ ครั้ง เราไม่สามารถทำเฉพาะงานที่เราชอบโดยธรรมชาติได้ เพื่อลดความตึงเครียดของการไม่รู้และการต้องรับมือกับสิ่งใหม่ๆ ในสถานการณ์ที่มีเวลาจำกัดและมีส่วนได้ส่วนเสียและผลกระทบชัดเจน ลองหาคอร์สเรียนหรือกิจกรรมที่จะส่งเสริมทักษะที่เราไม่มีแต่น่าจะได้ใช้ในการทำงานเพื่อพัฒนาตัวเองและเตรียมความพร้อมให้กับโจทย์ในอนาคต
  • พยายามสื่อสารธรรมชาติความเป็นตัวเองและความช่วยเหลือที่ต้องการ: อธิบายให้เพื่อนร่วมงานหรือคนในทีมเข้าใจในธรรมชาติและความถนัดของตัวเองโดยไม่ต้องกังวลว่าคนอื่นอาจมองว่าตัวเองไม่รู้หรือไม่มีความสามารถ หาคนที่สามารถตอบคำถามที่สงสัยและสิ่งที่ค้างคาใจได้ โดยเฉพาะคนที่สามารถสามารถอธิบายด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย และขอความช่วยเหลือที่จำเป็นต่อการทำงาน เช่น แหล่งข้อมูลที่สามารถศึกษาได้เพิ่มเติม การสาธิตงาน การสอนงานอย่างเป็นขั้นเป็นตอน หรือคอร์สที่จะช่วยส่งเสริมความสามารถ
  • หาเวลาผ่อนคลายด้วยการอยู่กับประสาทสัมผัส: เนื่องจากการได้ใช้ประสาทสัมผัสคือสิ่งที่ Sensing ชอบโดยธรรมชาติ เมื่อรู้สึกเครียด ลองทำกิจกรรมที่สามารถช่วยทำให้รู้สึกให้ผ่อนคลาย เช่น ไปทานอาหารอร่อยๆ ขับรถชมวิว ไปในที่สวยๆ บรรยากาศดีๆ ฟังเพลงเพราะๆ อยู่กับธรรมชาติ ทำสวน ไปสปา ดูหนังตลก หนังแอคชั่นหรือหนังสยองขวัญ (เป็นการกระตุ้น Sense หรือเบี่ยงเบนความสนใจ) เป็นต้น

iNtuition คนที่ถนัดรับข้อมูลผ่านญาณทัศนะ

สรุปลักษณะนิสัย:

iNtuition เป็นกลุ่มคนที่เชื่อในความเป็นไปได้และการคาดการณ์อนาคต พวกเขามักมองหาภาพรวม แพทเทิร์นและความเชื่อมโยงกันของข้อมูล รวมทั้งความหมายซ่อน และความรู้หรือการตีความเชิงลึก โดยมักสนใจในแนวคิดต่างๆ สิ่งแปลกใหม่ วิสัยทัศน์ระยะยาว ทฤษฎี และสิ่งที่เป็นนามธรรม


ตัวกระตุ้นความเครียดที่ให้ใจห่อเหี่ยวในที่ทำงาน
:

  1. การต้องรับมือหรือจัดการกับรายละเอียดจำนวนมาก: คนประเภท iNtuition มักรู้สึกเครียดเมื่อต้องจัดการกับงานที่เน้นรายละเอียดและความรอบคอบ เช่น งานเอกสาร งานที่ต้องจดจำตัวเลข หรือ งานที่ต้องใช้ข้อมูลในอดีต โดยเฉพาะหากมองไม่เห็นความเชื่อมโยงกับเป้าหมายในภาพรวมหรือไม่สามารถจับแพทเทิร์นของข้อมูลได้ เนื่องจากทำให้รู้สึกเบลอ ท่วมท้น และไม่น่าดึงดูดใจ
  2. การขาดโอกาสในการสำรวจหรือนำเสนอไอเดียใหม่: คนประเภท iNtuition ชอบการคิดเชิงนามธรรมและไอเดียสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ การถูกจำกัดไม่ให้สำรวจหรือทดลองความเป็นไปได้ และไม่มีคนรับฟังหรือคอยขัดไอเดียว่าทำไม่ได้จริง มักทำให้พวกเขารู้สึกถูกควบคุมมากเกินไป ไม่ได้พัฒนาศักยภาพอย่างเต็มที่ และรู้สึกเบื่อกับการทำงาน
  3. สภาพแวดล้อมที่เน้นโครงสร้างเป็นอย่างมาก: เนื่องจากพวกเขามักชอบสำรวจสิ่งใหม่ๆ ในสภาพแวดล้อมที่เปิดกว้างให้ลองผิดลองถูกได้ ต้องการโอกาสในการแสดงความแตกต่าง และมองหาวิธีการที่สร้างสรรค์กว่าเดิมในการทำงาน คนประเภท iNtuition อาจรู้สึกเครียดเมื่อต้องทำงานในสภาพแวดล้อมที่เข้มงวด มีกฎระเบียบที่เคร่งครัดและไม่ยืดหยุ่น และสนับสนุนให้ทุกคนทำเหมือนๆ กันเป็นกิจวัตรซ้ำๆ
  4. สภาพแวดล้อมที่เน้นการลงมือทำ: การทำงานที่เน้นการปฏิบัติมักเป็นงานที่มีคำสั่งชัดเจนให้ลงมือทำตามกระบวนการที่มีอยู่แล้วและต้องอยู่ในความเป็นจริงและใช้รายละเอียดเป็นหลัก เนื่องจากคนประเภท iNtuition มักชอบกระบวนการริเริ่ม ออกไอเดีย ขึ้นคอนเซ็ปต์ หรือวางภาพรวม การเน้นลงมือทำเพียงอย่างเดียวอาจทำให้รู้สึกว่าถูกจำกัดความเป็นตัวเองและไม่ได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ นอกจากนี้ การลงมือปฏิบัติบนพื้นฐานของความเป็นจริงมักไม่ใช่สิ่งที่เขาถนัดโดยธรรมชาติ ในหลายๆ ครั้งอาจรู้สึกเครียดกับผลงานได้
  5. การรู้สึกว่าสิ่งที่ทำไม่ตรงกับวิสัยทัศน์ที่เห็น: สิ่งนี้ทำให้คนประเภท iNtuition เกิดความรู้สึกขัดแย้งภายใน สงสัยในประสิทธิภาพและการเติบโตของสิ่งที่ทำ รวมทั้งอาจทำให้รู้สึกว่ากำลังทำในสิ่งที่ไม่มีความหมาย ซึ่งนำไปสู่การลดทอนคุณค่าของตัวเองและความรู้สึกสูญเสียโอกาสในการได้สำรวจความเป็นตัวเอง

 

พฤติกรรมภายใต้ความเครียด:

  • หลีกเลี่ยงการตัดสินใจ พยายามเปลี่ยนตัวเลือกและมองหาความเป็นไปได้ที่มากเกินไปจนทำให้เลือกไม่ได้
  • รู้สึกเคว้งคว้างในความคิดเชิงนามธรรมของตัวเอง ดิ้นรนกับปัญหาที่จับต้องไม่ได้ โดยไม่มี action ที่ชัดเจน
  • ต้องการเปลี่ยนสภาพแวดล้อมไปโดยสิ้นเชิง หลีกหนีจากความจริงที่ไม่อยากเผชิญ
  • โฟกัสกับเรื่องร่างกายและความเป็นอยู่มากเกินควร

 

คำแนะนำเพื่อการดูแลตัวเอง:

  • หาเวลาสำรวจและสร้างสรรค์สิ่งใหม่: เลือกโจทย์หรือเนื้องานที่สนับสนุนให้ได้สำรวจความเป็นไปได้หรือสร้างสรรค์จากไอเดียใหม่ๆ เป็นหลัก หากไม่สามารถเป็นไปได้ ลองจัดสรรเวลานอกเหนือจากการทำงานให้มีโอกาสได้สำรวจแนวคิดและทดลองทำสิ่งใหม่ๆ เพื่อเป็นการกระตุ้นจินตนาการ เช่น การแสดงความเป็นตัวเองผ่านศิลปะ การเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ
  • ทบทวนและตั้งเป้าหมายใหม่: ใช้เวลาในการประเมินและตั้งเป้าหมายอีกครั้ง เพื่อให้แน่ใจว่ากำลังเดินไปในทิศทางที่ต้องการ สอดคล้องกับเป้าประสงค์ ความสนใจที่เปลี่ยนไป และวิสัยทัศน์ระยะยาว การมีความชัดเจนว่าทำสิ่งนี้เพื่ออะไร ทำไปทำไม และจะนำไปสู่อะไร สามารถช่วยลดความเครียดและทำให้รู้สึกว่าควบคุมสถานการณ์ได้ดีขึ้น
  • มีส่วนร่วมในสภาพแวดล้อมที่เปิดกว้างสำหรับการแลกเปลี่ยนความคิด: หาโอกาสในการพูดคุยและแลกเปลี่ยนความคิดกับผู้อื่นที่มีมุมมองและแนวคิดที่หลากหลาย การได้รับมุมมองใหม่ๆ สามารถช่วยกระตุ้นความคิด ให้แง่มุมใหม่ในการแก้ปัญหา สร้างแรงบันดาลใจ และลดความเครียดได้
  • พูดคุยเชิงลึกกับคนที่ให้ความสำคัญกับความหลากหลาย: โดยธรรมชาติ iNtuition มักสนใจความคิดเชิงนามธรรมอย่างปรัชญาและจิตวิทยาในความเป็นมนุษย์ เนื่องจากเป็นประชากรส่วนน้อยและมักรู้สึกว่าโดดเดี่ยว เพราะต้องคอยปรับตัวให้เข้ากับคนส่วนมาก การได้พูดคุยกับคนที่คล้ายคลึงกันและเห็นความสำคัญของความแตกต่างในความเป็นมนุษย์นำไปสู่การการสนทนาเชิงลึกที่เปิดโอกาสให้ได้ขบคิดและตั้งคำถามกับสิ่งที่ตัวเองกำลังเผชิญ รวมทั้งได้ทบทวนความคิด ความรู้สึก การตีความโลกของตัวเอง และค่านิยมส่วนตัวอีกครั้ง ซึ่งนอกจากจะช่วยให้ได้มุมมองในการจัดการความเครียดใหม่แล้ว ยังสามารถช่วยให้รู้สึกว่าได้รับการยอมรับและมีคนเข้าใจด้วย
  • เรียนรู้ทฤษฎีหรือกรอบความคิดใหม่: กิจกรรมนี้เป็นการใช้จุดแข็งของความเป็น N มาช่วยดูแลสุขภาพใจ การเรียนรู้ทฤษฎีหรือกรอบความคิดใหม่ๆ ช่วยให้สามารถสำรวจความหมายของสิ่งที่กำลังเผชิญอยู่ในมุมมองที่แตกต่างออกไป สนับสนุนการตีความใหม่ และช่วยให้เกิดการเชื่อมโยงความรู้และประสบการณ์ใหม่ที่ได้มา นอกจากนี้ยังช่วยกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ มอบความรู้สึกสดใหม่และตื่นเต้น ทำให้รู้สึกไม่จำเจ

การเข้าใจวิธีการรับข้อมูลจากการศึกษารูปแบบบุคลิกภาพ MBTI® ช่วยให้เราสามารถดูแลตัวเองผ่านการเข้าใจความต้องการก่อนตัดสินใจหรือแก้ปัญหาต่างๆ ในชีวิตได้ ซึ่งทำให้เราสามารถเลือกวิธีการเรียนรู้และการสื่อสารที่สนับสนุนการเติบโตของตัวเองได้อย่างเหมาะสม

นอกจากนี้ การเข้าใจในเรื่องวิธีการรับข้อมูลที่เราชอบช่วยให้ insight เกี่ยวกับสิ่งที่เราสนใจโดยธรรมชาติ  และช่วยให้เราเห็นว่ามองอดีต ปัจจุบัน และอนาคตของตัวเองอย่างไร สิ่งเหล่านี้เป็นประโยชน์สำหรับการตั้งเป้าหมายและออกแบบกิจกรรมในชีวิตให้สอดคล้องกับความเป็นตัวเอง กับวิสัยทัศน์ที่เล็งเห็น และกับทัศนคติของเราที่มีต่อโลก ณ ปัจจุบัน ซึ่งสามารถช่วยทำให้เรารู้สึกแข็งแรงจากภายใน รู้สึกว่าชีวิตอยู่ในการควบคุมของเราเป็นส่วนใหญ่ ช่วยให้สัมผัสถึงความหมายของชีวิตได้มากขึ้น มีแนวทางสำหรับอะไรหลายๆ อย่างเมื่อเผชิญหน้ากับความท้าทาย และสามารถลดความเครียดจากการรู้สึกเคว้งคว้างไม่มีทางออกและไม่รู้ว่าตัวเองทำอะไรอยู่หรือต้องการอะไรได้เป็นอย่างดี

สามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ [email protected] หรือโทร 02 258 6930-35