ดูแลสุขภาพใจในที่ทำงานอย่างไรให้สอดคล้องกับธรรมชาติความเป็น Extravert/ Introvert
ทุกวันนี้เทรนด์การดูแลสุขภาพใจในที่ทำงานกำลังมาแรง แม้ว่าการทำงานที่ตอบโจทย์ ‘ความอยู่รอดของชีวิต’ (Survival) นั้นจะยังมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด การทำงานที่สนับสนุน ‘ความเป็นอยู่ที่ดี’ (Wellbeing) ก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน
และเนื่องจากเราใช้เวลาส่วนมากในแต่ละวัน แต่ละสัปดาห์ไปกับการทำงาน มันเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่การทำงานจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเราไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะในเรื่องของ ‘สุขภาพของใจ’ ที่หลายๆ คนมักจะมองข้าม
หลายครั้ง การทำงานทำให้เรารู้สึกเครียด เหนื่อยล้า และหมดไฟ จนไม่มีแรงที่จะใช้ชีวิตในแบบที่เราอยากใช้ การเข้าใจว่าอะไรทำให้เรา ‘หมดแรง’ และรับรู้ว่าเราควร ‘ดูแล’ ตัวเองอย่างไรให้เหมาะสมกับความเป็นเรามากที่สุดจึงเป็นหนึ่งในทางออกที่จะช่วย ‘เติมไฟ’ ให้กับเราได้
การดูแลสุขภาพใจด้วย MBTI®
หนึ่งในทฤษฎีที่จะช่วยให้เราเข้าใจธรรมชาติความเป็นตัวเองที่ง่ายที่สุดคือทฤษฎีรูปแบบบุคลิกภาพเชิงจิตวิทยา (Psychological Type) ของ Jung และ Myers & Briggs หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ MBTI® ซึ่งหากมองในมุมของการดูแลสุขภาพใจ เราสามารถแบ่ง
วิธีการทำความเข้าใจกับที่มาที่ไปของการมีไฟหรือหมดไฟในตัวเองได้เป็น 4 หมวด กล่าวคือ
-
หมวดแหล่งพลังงาน (Extraversion – Introversion)
-
หมวดการรับข้อมูล (Sensing – Intuition)
-
หมวดการตัดสินใจ (Thinking – Feeling)
-
หมวดวิธีมองและปรับตัวเข้าหาโลกภายนอก (Judging – Feeling)
วันนี้เราจะมาโฟกัสกันที่หมวดแรก แหล่งพลังงานตามธรรมชาติของเรา (Extraversion – Introversion) ซึ่งเป็นการดูแลตัวเองบนพื้นฐานของการเข้าใจว่าเรามีแนวโน้มที่จะได้รับพลังงานความกระตือรือร้นมาจากที่ใดและสบายใจกับสิ่งแวดล้อมแบบไหนโดยธรรมชาติ ดังนี้
- Extravert คนที่ได้พลังงานจากโลกภายนอก (สิ่งแวดล้อมรอบตัว)
- Introvert คนที่ได้พลังงานจากโลกภายใน (โลกความคิดและสภาพแวดล้อมที่คุ้นเคย)
Extravert คนที่ได้พลังงานจากโลกภายนอก
สรุปลักษณะนิสัย
Extravert เป็นกลุ่มคนที่รู้สึกมีชีวิตชีวาเมื่อได้พูดคุย ทำกิจกรรม และเก็บเกี่ยวประสบการณ์ผ่านการลงมือทำหรือการมีปฏิสัมพันธ์กับโลกรอบตัว พวกเขามักเป็นคนริเริ่มบทสนทนา มีภาษาท่าทาง น้ำเสียง และการแสดงออกที่ชัดเจน ช่างพูดช่างคุย กล้าแสดงความเห็น ปรับตัวกับสภาพแวดล้อม ภายนอกได้ง่าย ช่างสังเกต ชอบความหลากหลาย และเป็นคนรู้กว้าง
ตัวกระตุ้นความเครียดที่ให้ใจห่อเหี่ยวในที่ทำงาน
- การขาดการโต้ตอบจากคนอื่น: เนื่องจากการพูดคุยเป็นสิ่งที่ช่วยเพิ่มพลังงานความกระตือรือร้น ความเงียบจึงเป็นสิ่งที่อาจดูดพลังงานและทำให้รู้สึกเหนื่อยหรือหน่ายได้ง่าย การถามคำถามหรือชวนพูดคุยแล้วไม่ได้รับการตอบสนอง โดยปกติแล้ว นอกจากจะทำให้รู้สึกหงุดหงิดใจและสงสัยในความคิดของคนตรงหน้า หลายๆ ครั้งยังส่งผลต่อกระบวนการคิดด้วย เพราะ Extravert คิดได้ดีที่สุดผ่านการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและการระดมสมองเป็นกลุ่ม
- การถูกจำกัดการแสดงออก: การไม่สามารถแบ่งปันความคิดหรือความรู้สึกกับผู้อื่นอาจทำให้พวกเขารู้สึกถูกกดดันและเครียดได้ง่าย เพราะไม่มีโอกาสได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ เป็นการขัดขวางการต่อยอดไอเดีย รวมไปถึงทำให้สูญเสียพลังงานที่มีล้นเหลือไปกับการพยายามยั้งตัวเองมากเกินไป โดยเฉพาะการถูกจำกัดด้วยกฎเกณฑ์ที่เคร่งครัด และการถูกคาดหวังให้นิ่งเงียบหรือวางตัวให้เหมาะสมอยู่ตลอดเวลา
- การทำงานในสภาพแวดล้อมเดิมๆ: Extravert เป็นกลุ่มคนที่มักชอบความแปลกใหม่และความหลากหลาย รวมทั้งชอบสภาพแวดล้อมที่มีความเคลื่อนไหว เพราะสิ่งเหล่านี้ช่วยกระตุ้นพลังความมีชีวิตชีวา เปิดโอกาสให้ได้เรียนรู้ และเพิ่มแรงจูงใจ การอยู่ในที่เดิมๆ ทำสิ่งเดิมๆ กับคนเดิมๆ เป็นการผลักให้พวกเขาอยู่ในโลกของตัวเอง ซึ่งไม่ใช่ความถนัดโดยธรรมชาติ
- การไม่มีคนเห็น การไม่ได้รับการประเมินค่าตามความสามารถ: Extravert มักเติบโตจากการได้รับคำติชมและการยอมรับจากผู้อื่น โดยปกติแล้ว พวกเขาใช้ฟีดแบ็คและการยืนยันจากสิ่งภายนอกเป็นตัววัดประสิทธิภาพในการใช้ชีวิตและการเติบโตของตัวเอง การรู้สึกว่าไม่มีคนเห็นในสิ่งที่ทำหรือเห็นแต่ไม่มองตามความสามารถที่แท้จริงนำไปสู่ความรู้สึกไม่มั่นคงและการสงสัยในคุณค่าของตัวเอง
- การไม่มีโอกาสพัฒนาความสัมพันธ์หรือเครือข่ายในที่ทำงาน: สำหรับ Extravert การมีเครือข่ายและความสัมพันธ์ที่แข็งแรงในที่ทำงานสามารถช่วยเสริมสร้างความรู้สึกมั่นใจและมั่นคงทางอารมณ์ได้ Extravert มีแนวโน้มที่จะต้องการการยอมรับในฐานะผู้นำในที่ทำงาน การขาดโอกาสเหล่านี้ อาจส่งผลให้รู้สึกว่าไม่สามารถพัฒนาตัวเองสู่บทบาทการเป็นบุคคลที่มีอิทธิพลหรือเป็นที่นิยมชมชอบได้
พฤติกรรมภายใต้ความเครียด
- พูดมากขึ้นหรือรวดเร็วขึ้น พูดไม่หยุดโดยไม่สามารถอ่านความรู้สึกคนฟังได้
- มีความต้องการการโต้ตอบกับผู้อื่นเพิ่มขึ้น ถามหรือเซ้าซี้ขึ้น และรู้สึกแย่หากไม่ได้รับคำตอบ
- แสดงอารมณ์ที่รุนแรงหรือเปลี่ยนแปลงง่าย
- ต้องการหลีกเลี่ยงการอยู่คนเดียว บางครั้งการอยู่คนเดียวที่ปกติทำได้ กลายเป็นสิ่งที่ทำให้รู้สึกซึมเศร้า
คำแนะนำเพื่อการดูแลตัวเอง
- หาโอกาสเข้าสังคม: Extravert ควรมีโอกาสได้มีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานอย่างสม่ำเสมอ การเข้าร่วมประชุมทีม การทำงานร่วมกันในโปรเจกต์ การไปทานข้าวกับเพื่อน หรือการเข้าร่วมกิจกรรมที่ทางบริษัทจัดให้ เป็นการเปิดโอกาสให้ได้รับพลังงานจากสภาพแวดล้อมรอบตัวและเอื้อต่อการพูดคุยเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดความรู้สึก ซึ่งสามารถช่วยลดความเครียดได้
- เข้าร่วมกิจกรรมที่กระตุ้นพลังงาน: เข้าร่วมกิจกรรมที่สนุกสนานและเน้นการมีส่วนร่วม เช่น การเข้าเวิร์คช็อป การออกกำลังกายกลุ่ม หรือการทำ CSR
- สื่อสารและแสดงความคิดเห็นอย่างเปิดเผย: สภาพแวดล้อมที่เปิดกว้างจะช่วยให้ Extravert สามารถแสดงความคิดเห็นและความรู้สึกได้อย่างอิสระ ซึ่งช่วยลดความเครียดจากการต้องปิดบังความคิดความรู้สึก ลองหาโอกาสที่เหมาะสมในการแสดงความรู้สึกนึกคิดในที่ทำงาน หรือสื่อสารกับผู้ที่ดูแลความเป็นอยู่ของพนักงานว่าสิ่งนี้สำคัญกับเราอย่างไร และสามารถทำอะไรได้บ้างเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนสุขภาพจิตที่ดีของ Extravert ได้บ้าง
- มองหาคำติชม: Extravert ต้องการคำติชมและการยอมรับจากผู้อื่นเพื่อยืนยันความคิดและความพยายามของตัวเอง หาโอกาสไถ่ถามฟีดแบ็คอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้รู้สึกมั่นใจ มีโจทย์กลับมาพัฒนาตัวเอง และลดความเครียดจากการรู้สึกไม่ได้รับการมองเห็น
- จัดสรรเวลาสำหรับการพักผ่อน: แม้ว่า Extravert จะต้องการการมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมภายนอก แต่การมีเวลาพักผ่อนเพื่อฟื้นฟูพลังงานทางจิตใจและกายก็สำคัญเช่นกัน ลองจัดสรรเวลาสำหรับกิจกรรมที่ผ่อนคลาย เช่น การเดินเล่น หรือ การฝึกโยคะ และคอยสังเกตตัวเองจนรู้ลิมิตของร่างกายและจิตใจเพื่อให้ไม่ฝืนเกินจำเป็นโดยไม่รู้ตัว
Introvert คนที่ได้พลังงานจากโลกภายใน
สรุปลักษณะนิสัย
Introvert เป็นกลุ่มคนที่รู้สึกผ่อนคลายและมีพลังชีวิตเมื่อได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่รู้สึกคุ้นเคย ปลอดภัย ไม่มีสิ่งเร้ารอบตัวมากเกินไป ได้โฟกัสในสิ่งที่สนใจเชิงลึก และมีโอกาสได้ครุ่นคิดไตร่ตรองกับตัวเองเพื่อทำความเข้าใจกับประสบการณ์ที่ได้รับมา พวกเขาถนัดประมวลข้อมูลก่อนสื่อสาร ใช้เวลาในการปรับตัวเข้าหาสภาพแวดล้อมภายนอก และดูสงวนท่าทีและนิ่งเงียบหากเปรียบเทียบกับท่าทีโดยธรรมชาติของ Extravert
ตัวกระตุ้นความเครียดที่ให้ใจห่อเหี่ยวในที่ทำงาน
- สภาพแวดล้อมที่วุ่นวาย เสียงดัง ไม่มีเวลาหรือพื้นที่ส่วนตัว: Introvert มักต้องการความสงบเงียบเพื่อคิดทบทวนและบริหารจัดการความคิด ของตนเอง ความใกล้ชิดที่มากเกินไปจากคนไม่สนิทอาจทำให้รู้สึกว่าถูกรุกล้ำความเป็นส่วนตัวและเป็นการหยุดยั้งกระบวนการย่อยความคิด สภาพแวดล้อมที่มีเสียงดังและเต็มไปด้วยการเคลื่อนไหวมักทำให้พวกเขารู้สึกเหนื่อยล้าและไม่สามารถโฟกัสได้ (สมองของ Introvert มีความไวต่อสิ่งเร้าสูงกว่า Extravert) ซึ่งนำไปสู่ความเครียดจากการทำงานล่าช้าและไม่มีประสิทธิภาพ
- การเรียกร้องและถูกคาดหวังให้เข้าสังคม: Introvert มักต้องการเวลาจำนวนมากในการอยู่กับตัวเองเพื่อชาร์จพลัง การถูกคาดหวังให้เข้าสังคมมากจนเกินไป นอกจากจะเป็นการดูดพลังงานแล้ว ยังทำให้รู้สึกโหยหาและต้องการเวลาอยู่กับตัวเองมากกว่าเดิม หลายครั้งเนื่องจากไม่คุ้นชินและไว้วางใจในโลกภายนอกเท่า Extravert ความรู้สึกประหม่า ไม่รู้ว่าต้องวางตัวอย่างไร พูดคุยเรื่องอะไร ทำอะไรบ้างซ้ำๆ นำไปสู่การรู้สึกว่าตัวเองด้อยกว่าคนอื่นและไร้ความสามารถได้
- การถูกบังคับให้พูดหรือออกความเห็นกับคนกลุ่มใหญ่โดยไม่ได้เตรียมตัวมาก่อน: Introvert มักต้องการเวลาในการเตรียมตัวและเรียบเรียง ความคิดก่อนที่จะแสดงความคิดเห็นหรือพูดในที่สาธารณะ การถูกบังคับให้ทำเช่นนี้ส่งผลให้รู้สึกถึงความไม่ปลอดภัยของโลกภายนอกทำให้ยิ่งคิดไม่ออก พวกเขาอาจกังวลการถูกตัดสินมากกว่าปกติ เพราะไม่ได้แสดงด้านที่ดีที่สุดของตัวเองออกมา รวมทั้งอาจรู้สึกขายหน้าหากสัมผัสได้ว่าคนอื่น อาจมองว่าตัวเองไม่มีไหวพริบหรือตอบได้ไม่ครอบคลุมและลึกพอ
- ความสัมพันธ์หรือการพูดคุยที่ตื้นเขิน: Introvert มักชอบการพูดคุยที่ลึกซึ้งและมีความหมาย เพราะมันหมายถึงการได้โฟกัสและอยู่กับเรื่องที่ตัวเองสนใจอย่างแท้จริง ซึ่งมักทำให้พูดคุยได้มากขึ้นและรู้สึกสบายใจมากกว่าบทสนทนาที่ผิวเผินและเปลี่ยนเรื่องอย่างรวดเร็ว สำหรับความสัมพันธ์ที่มีความสนิทสนมกันอย่างแท้จริงโดยพัฒนามาจากการพูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องราวที่ทั้งสองฝ่ายสนใจร่วมกันเป็นการช่วยทำให้รู้สึกปลอดภัยและคุ้นเคยกับ สภาพแวดล้อมนั้นๆ มากขึ้น
- การถูกจับตามองหรือเป็นจุดสนใจ: การอยู่ภายใต้การจับตามองของผู้คนมากมาย โดยเฉพาะจากคนที่ไม่สนิทหรือคนแปลกหน้า อาจทำให้ Introvert รู้สึกไม่สบายใจและเครียดได้ง่าย เนื่องจากเป็นการผลักให้ยิ่งรู้สึกไม่ปลอดภัยกับโลกภายนอก กังวลกับการถูกวิพากษ์วิจารณ์และการไม่มีพื้นที่ส่วนตัวให้ได้เป็นตัวเอง เพราะคนอื่นกำลังกดดันและคาดหวังให้ตอบสนองในแบบที่ไม่ตรงกับธรรมชาติของตนและสิ่งที่ตนคิดจริงๆ
พฤติกรรมภายใต้ความเครียด
- ถอนตัวจากสังคม หลบไปอยู่คนเดียว ต้องการใช้เวลากับกิจกรรมที่เงียบสงบมากขึ้น
- แสดงอารมณ์หดหู่หรือเศร้าในรูปแบบของการเงียบกว่าเดิมหรือไม่มีแรงจูงใจทำงานและไม่อยากคุยกับใคร
- แสดงความเครียดผ่านปัญหาทางร่างกาย เช่น ปวดหัว เมื่อยล้า นอนไม่หลับ
- รู้สึกท่วมท้น หลีกเลี่ยงการตัดสินใจหรือการดำเนินการ ทำให้งานล่าช้า
คำแนะนำเพื่อการดูแลตัวเอง
- จัดสรรเวลาอยู่คนเดียว: Introvert ควรมีเวลาอยู่คนเดียวเพื่อชาร์จพลังงาน ทบทวนประสบการณ์ที่ได้รับและย่อยข้อมูล วางแผนเวลาในแต่ละวัน หรือสัปดาห์เพื่อให้มีเวลาส่วนตัวที่จะทำกิจกรรมเงียบๆ เช่น เวลาอ่านหนังสือ หรือ การเขียนจดบันทึก
- สร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่เหมาะสม: ปรับเปลี่ยนสถานที่ทำงานให้เงียบสงบและมีความเป็นส่วนตัวมากที่สุด เช่น จัดสรรพื้นที่ทำงานที่ห่างไกลจากพื้นที่วุ่นวายหรือมีคนพลุกพล่าน ลองหาห้องเงียบๆ มุมเล็กๆ ในที่ทำงาน หรือห้องประชุมไปหลบใช้ความคิด หากเป็นไปไม่ได้ จะใช้หูฟังเพื่อบล็อกเสียงรบกวน หรือหาเวลาออกไปเดินพักเงียบๆ คนเดียว
- จำกัดการโต้ตอบที่ไม่จำเป็น: อธิบายกับเพื่อนร่วมงานและผู้จัดการเกี่ยวกับความต้องการของคุณในเรื่องของคุณภาพเวลาและความสำคัญของพื้นที่ส่วนตัว เพื่อลดการพูดคุยหรือการประชุมที่ไม่จำเป็น
- กำหนดเวลาสำหรับการฟื้นฟูหลังจากกิจกรรมทางสังคม: หลังจากการทำกิจกรรมทางสังคม เช่น การประชุม การเจอลูกค้า การพูดคุยกับเพื่อนร่วมงาน ควรกำหนดเวลาให้ตัวเองได้พักผ่อนคนเดียวหรือกับคนที่รู้สึกสบายใจเพื่อฟื้นฟูความเหนื่อยล้าจากสังคม
- ใช้เทคนิคการผ่อนคลาย: ฝึกฝนเทคนิคการผ่อนคลาย เช่น การทำสมาธิ การหายใจเข้าลึกๆ หรือโยคะ เพื่อช่วยจัดการความเครียดและคงสภาวะจิตใจที่ดี
ยุคของการทำงานโดยไม่สนใจสุขภาพกายและใจเพื่อแลกกับผลตอบแทนกำลังจะหายไป ยุคของการทำงานที่ให้ผลตอบแทนที่น่าพอใจและเห็นความสำคัญของการดูแลความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงานด้วยกำลังมาแทนที่ เพราะทุกคนต่างก็อยากได้สุขภาพกายใจที่ดีที่แข็งแรงพอจะเป็นเชื้อเพลิงให้กับพลังชีวิต
แน่นอน ไม่มีวิธีดูแลสุขภาพใจใดที่จะตอบโจทย์คนทุกคนได้ เนื่องจากมนุษย์เรามีความหลากหลาย การเข้าใจและเคารพในความต้องการของตัวเอง รวมทั้งสามารถดูแลตัวเองได้ ไม่เพียงเป็นเกราะป้องกันความเครียดและการหมดไฟของตัวเอง แต่ยังเป็นการช่วยสร้างเกราะป้องกันความไม่มีประสิทธิภาพในการทำงาน และป้องกันการสูญเสียพนักงาน พลังงาน หรือค่าใช้จ่ายที่เป็นผลพวงมาจากการป่วยใจให้กับองค์กรด้วย