ดูแลสุขภาพใจในที่ทำงานอย่างไรให้สอดคล้องกับธรรมชาติความเป็น Thinking / Feeling

หากพูดถึงสุขภาพจิต ความคิดและความรู้สึกมีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมากในการช่วยบริหารจัดการความเครียด การมีความคิดความรู้สึกที่ดีส่งผลต่อความสามารถในการวิเคราะห์สถานการณ์เพื่อแก้ปัญหา ตัดสินใจ และวางแผนชีวิต และช่วยให้เรามีความสัมพันธ์ที่ดีกับทั้งตนเองและผู้อื่น และในท้ายที่สุดเป็นการช่วยพัฒนาทักษะทางอารมณ์และชุบชูจิตใจ

ในบทความที่แล้ว  ดูแลสุขภาพใจในที่ทำงานอย่างไรให้สอดคล้องกับธรรมชาติความเป็น  Sensing / iNtuition เราได้สำรวจวิธีการรับข้อมูลของคนทั้งสองประเภท ซึ่งช่วยให้เราเข้าใจว่าเราโฟกัสและต้องการข้อมูลแบบใดก่อนจะพร้อมตัดสินใจหรือแก้ปัญหาต่างๆ ในชีวิต นอกจากนี้เรายังได้เรียนรู้เกี่ยวกับตัวกระตุ้นความเครียด พฤติกรรมภายใต้ความเครียด และเทคนิคในการดูแลใจของตัวเองในบริบทของความเป็น Sensing และ iNtuition

วันนี้ เราจะมาชวนเรียนรู้เรื่องการดูแลสุขภาพใจเพิ่มเติมผ่านการทำความเข้าใจกับที่มาที่ไปของการมีไฟหรือหมดไฟในหมวดของการตัดสินใจ (Thinking – Feeling) ซึ่งจะช่วยให้เราเล็งเห็นเกณฑ์การตัดสินใจโดยธรรมชาติของเรา รวมถึงความต้องการและสิ่งที่ให้ค่าเมื่อต้องตัดสินใจ ดังนี้

  • Thinking คนที่ถนัดตัดสินใจโดยใช้ตรรกะและความคิด
  • Feeling คนที่ถนัดตัดสินใจโดยใช้คุณค่าและความรู้สึก

Thinking คนที่ถนัดตัดสินใจโดยใช้ตรรกะและความคิด

สรุปลักษณะนิสัย:

Thinking เป็นกลุ่มคนที่ตัดสินใจโดยชั่งน้ำหนักผลดีผลเสียตามหลักเหตุผล วิเคราะห์และประเมินความถูกต้องด้วยหลักการ กฎ เกณฑ์ หรือมาตรฐานบางอย่าง เน้นวัตถุประสงค์และผลลัพธ์ ถนัดวิพากษ์วิจารณ์ออกไปตรงๆ และให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาก่อนเป็นอันดับแรก

ตัวกระตุ้นความเครียดที่ให้ใจห่อเหี่ยวในที่ทำงาน

  • การต้องทำงานในโจทย์ที่ไม่ชัดเจน: Thinking ต้องการเป้าหมาย วัตถุประสงค์ และเกณฑ์การวัดผลที่ชัดเจนในการทำงาน เพื่อให้รู้ว่าต้องเดินไปในทิศทางใด ผลลัพธ์จะหน้าตาประมาณไหน และหากต้องแก้ปัญหา จะต้องใช้ข้อมูลข้อเท็จจริงหรือหลักการใดมาช่วยวิเคราะห์สถานการณ์ จัดลำดับความสำคัญ และประเมินความเสี่ยง สำหรับ Thinker ความชัดเจนยังช่วยในเรื่องการกำหนดแผนการทำงาน วิธีการ กระบวนการบรรลุเป้าหมาย และการหาวิธีการสื่อสารและทำงานร่วมกับผู้อื่นเพื่อให้ไปถึงเป้าหมายโดยเร็วที่สุดด้วย ความคลุมเครือและการไม่รู้ว่าทิศทางคืออะไรจึงมักทำให้รู้สึกไม่มีประสิทธิภาพและกังวลว่าอาจไม่ประสบความสำเร็จ
  • การต้องทำงานในสภาพแวดล้อมที่ไม่มีประสิทธิภาพ: Thinking เป็นกลุ่มคนที่ให้ค่ากับความสามารถและความสำเร็จสูง ระเบียบ โครงสร้าง กฎเกณฑ์ และการบริหารจัดการที่ไม่ชัดเจนมักทำให้พวกเขารู้สึกว่าไปถึงเป้าหมายได้ล่าช้าโดยไม่จำเป็น การทำงานกับคนที่ไม่มีความสามารถมากพอก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สามารถกระตุ้นความเครียดและมักทำให้รู้สึกหงุดหงิดกังวลใจได้ เนื่องจากการต้องการประสิทธิภาพและความรวดเร็วในการแก้ปัญหา และต้องการเห็นผลลัพธ์ที่ดี
  • การถูกกดดันให้แสดงอารมณ์ความรู้สึกและการเห็นอกเห็นใจ: Thinking มักรู้สึกสบายใจเมื่อได้สื่อสารด้วยเหตุผลโดยผ่านการวิเคราะห์มากกว่า การถูกกดดันให้ตอบสนองต่อสถานการณ์ด้วยความรู้สึกอาจเป็นเรื่องท้าทาย ทำให้อึดอัด และไม่เป็นธรรมชาติ เนื่องจากไม่ไว้วางใจและไม่ได้เปิดรับความรู้สึกของคนอื่นง่ายๆ อีกทั้งยังไม่ถนัดตีความอารมณ์ (จะเปิดโหมดนี้เฉพาะกับครอบครัวหรือคนที่ใกล้ชิดมากจริงๆ) การถูกคาดหวังให้ต้องแสดงความเห็นอกเห็นใจและตอบสนองต่ออารมณ์อย่างเหมาะสม รวมทั้งต้องอธิบายความรู้สึกของตัวเองต่อหน้าคนอื่นสามารถนำไปสู่ความเครียดและทำให้รู้สึกไม่ปลอดภัย
  • การทำงานเกี่ยวกับคนตลอดเวลา: โดยธรรมชาติ Thinking มักให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหามากกว่าการรักษาความสัมพันธ์ การทำงานกับคน จึงมักเป็นเรื่องท้าทาย พวกเขาอาจพบว่าสามารถรับรู้ความรู้สึกและตอบสนองต่ออารมณ์ของคนอื่นได้ไม่ดีนัก ไม่สะดวกสื่อสารในเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับเนื้องานหรือรับฟังปัญหาส่วนตัว ไม่สามารถรับอารมณ์ที่เข้มข้นได้ และไม่ถนัดปรับตัวให้เข้ากับค่านิยมของคนจำนวนมาก อีกทั้งการทำงานกับคนมักต้องเผชิญหน้ากับปัญหาความขัดแย้งและความไม่ลงรอยกันอยู่เนืองๆ ซึ่งการต้องประสานความสัมพันธ์และช่วยให้แต่ละฝ่ายเข้าใจกันอาจไม่ใช่เรื่องที่สนใจโดยธรรมชาติ

พฤติกรรมภายใต้ความเครียด:

  • แสดงความห่างเหินเย็นชาถอนตัวออกจากกลุ่ม หลีกหนีความรู้สึกหรือสถานการณ์ที่ทำให้รู้สึกไม่สบายใจ
  • พยายามเข้าควบคุมสถานการณ์มากกว่าเดิมจนดูเหมือนคนใช้อำนาจมากเกินไป
  • วิจารณ์รุนแรงทั้งกับตัวเองและคนอื่น มองแค่ความผิดพลาดหรือปัญหา
  • อ่อนไหวผิดปกติ เสียใจ น้อยใจ และผิดหวังง่ายกว่าปกติ

คำแนะนำเพื่อการดูแลตัวเอง

  • ให้ความสำคัญกับการทำงานให้เสร็จ: การทำงานให้สำเร็จเป็นชิ้นเป็นอันแม้จะเป็นงานเล็กงานน้อยสามารถช่วยเพิ่มความรู้สึกมั่นใจและพึงพอใจในตัวเองสำหรับคนที่เน้นเป้าหมายแบบ Thinking ได้ การทำงานเสร็จเป็นอย่างๆ ยังช่วยให้เห็นผลลัพธ์ได้รวดเร็วและชัดเจนขึ้น รวมทั้งทำให้รู้สึกว่าสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ดีอีกด้วย
  • มองหาฟีดแบ็คที่เป็นประโยชน์: เนื่องจาก Thinking มักเป็นคนที่มีความทะเยอทะยานสูงและต้องการเติบโตทางด้านการทำงานอย่างรวดเร็ว อย่าลืมมองหาฟีดแบ็คที่จะช่วยประเมินประสิทธิภาพของการทำงานและผลลัพธ์ที่ได้อย่างสม่ำเสมอ สิ่งนี้ช่วยให้แนวทางในการพัฒนาตนเองสู่เป้าหมาย ทำให้รู้สึกว่ากำลังมุ่งหน้าสู่ความสำเร็จที่ต้องการได้อย่างมั่นใจขึ้น
  • ทำกิจวัตรประจำวันให้แข็งแรงและหาเวลาอยู่คนเดียว: การมีกิจวัตรประจำวันที่เป็นระเบียบและสม่ำเสมอสามารถสร้างความรู้สึกมั่นคงจากภายในและลดความวิตกกังวลให้กับ Thinking ได้เป็นอย่างดี เพราะเป็นการช่วยทำให้เส้นแบ่งระหว่างเวลางาน เวลาเล่น และเวลาพักมีความชัดเจนและเป็นโครงสร้างมากขึ้น อย่าลืมใส่การออกกำลังกาย การนอนหลับที่เพียงพอ การรับประทานอาหารที่ดีต่อร่างกาย และทำกิจกรรมผ่อนคลายเข้าไปด้วย นอกจากนี้ หลังจากทำงานร่วมกับคนอื่นหรือรับมือกับอารมณ์ที่หลากหลาย ลองหาเวลาอยู่กับตัวเอง กับเครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่ชอบ หรือกับสิ่งใดก็ได้ที่ทำให้รู้สึกสบายใจโดยไม่ต้องสนใจความต้องการของคนอื่นเพื่อพักใจให้สงบและมีสมาธิมากขึ้น
  • ฝึกฝนการเข้าใจอารมณ์ความรู้สึก: ลองฝึกทบทวนความรู้สึกในตัวเอง อยู่กับอารมณ์ต่างๆ ที่โผล่ขึ้นมาโดยไม่หนีและไม่วิจารณ์หรือมองว่าไม่มีเหตุผล ฝึกอธิบายความรู้สึกให้คนที่ไว้ใจฟัง รวมทั้งฝึกการรับฟังคนอื่นอย่างตั้งใจไม่ว่าจะเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับการทำงานหรือปัญหาส่วนตัว เพื่อเป็นการพัฒนาและปรับปรุงความสัมพันธ์กับตัวเองและผู้อื่น สิ่งนี้จะช่วยให้จัดการกับความเครียดที่มาจากคนได้ดีขึ้นในระยะยาว
  • มองหาความช่วยเหลือ: สำหรับบางปัญหา การแก้ไขด้วยตัวเองเพียงคนเดียวอาจไม่มีประสิทธิภาพมากนัก แม้ว่าการต้องการอิสระในตนเองโดยไม่พึ่งพาผู้อื่นเป็นเรื่องดี แต่การมองหาความช่วยเหลือจากคนที่ไว้ใจก็เป็นประโยชน์อย่างมาก มันสามารถให้มุมมองใหม่ๆ ในการแก้ปัญหาได้ และการมีคนรับฟังก็ช่วยทำให้เรารู้สึกว่าได้รับความเข้าใจและได้รับการยอมรับ ในบางครั้ง การแสดงความรู้สึกที่อ่อนไหวหรือพูดคุยเกี่ยวกับความอ่อนแอในตัวเองหรือความล้มเหลวที่พบเจอสามารถช่วยให้เราดูแลสุขภาพจิตของตัวเองได้ดีขึ้นในระยะยาว ทั้งยังช่วยให้เราเห็นตัวเองและอยู่กับความรู้สึกได้มากขึ้นด้วย

 

Feeling คนที่ถนัดตัดสินใจโดยใช้คุณค่าและความรู้สึก

สรุปลักษณะนิสัย:

Feeling เป็นกลุ่มคนที่ตัดสินใจโดยคำนึงถึงค่านิยมและผลกระทบทางความรู้สึกของตนเองและผู้อื่น โดยให้ความสำคัญในเรื่องคุณค่า เน้นรักษาความสัมพันธ์ก่อนเป็นอันดับแรก และมักมีความสามารถในการเข้าอกเข้าใจคนอื่นและคอยให้การสนับสนุนทางอารมณ์

ตัวกระตุ้นความเครียดที่ให้ใจห่อเหี่ยวในที่ทำงาน:

  • ความขัดแย้ง: Feeling มักให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์และการเชื่อมโยงทางอารมณ์กับผู้อื่น การไม่ลงรอยกันในความสัมพันธ์จึงเป็นหนึ่งในสิ่งที่ทำให้รู้สึกเครียดได้ง่ายที่สุด โดยเฉพาะหากมาจากความขัดแย้งระหว่างความต้องการของตนเองและคนรอบข้าง หลายครั้ง Feeler มักรู้สึกเกรงใจหรือกังวลว่าตัวเองจะถูกมองว่าเห็นแก่ตัว จึงกดเก็บความต้องการของตัวเองไว้เพื่อทำให้คนอื่นก่อนโดยไม่ได้สื่อสารถึงสิ่งที่ตัวเองต้องการจริงๆ และยอมอดทนซ้ำๆ จนสุดท้ายเกิดเป็นความรู้สึกว่าโดนเอาเปรียบ ซึ่งทำให้ความสัมพันธ์ยิ่งร้าวฉาน และส่งผลให้เครียดกว่าเดิม
  • การทำในสิ่งที่ไม่สอดคล้องกับค่านิยมของตัวเอง: คนประเภท Feeling มักให้ความสำคัญกับการใช้ชีวิตให้สอดคล้องกับสิ่งที่ตัวเองให้ค่าและยึดถือมันประหนึ่งเข็มทิศในการใช้ชีวิต หากงานที่ทำมีความขัดแย้งกับค่านิยมของตัวเอง พวกเขามักรู้สึกผิด เครียด กังวล และสูญเสียความเป็นตนเอง ซึ่งนำไปสู่การลดทอนคุณค่าและความพึงพอใจในชีวิตของตน
  • บรรยากาศการทำงานที่เน้นการแข่งขัน: Feeling มักต้องการบรรยากาศการทำงานที่เป็นมิตร และรักใคร่กันเหมือนคนในครอบครัว พวกเขามักต้องการความจริงใจและความปรารถนาที่ดีต่อกัน การทำงานที่เน้นเป้าหมายและผลลัพธ์ เน้นการแข่งขันสูงอาจไม่ใช่ภาพการทำงานในอุดมคติเสียทีเดียว การเปรียบเทียบและถูกประเมินความสามารถซ้ำๆ รวมทั้งถูกกดดันให้ไปสู่เป้าหมาย มักทำให้รู้สึกเครียดและไม่ปลอดภัย
  • การถูกปฏิเสธหรือความรู้สึกถูกทอดทิ้ง: การมีความสัมพันธ์ที่มีความหมายหรือการได้อยู่กับสิ่งที่ตัวเองรักและให้ค่าทำให้ Feeling รู้สึกสบายใจและพึงพอใจกับชีวิต เมื่อถูกปฏิเสธหรือถูกทอดทิ้ง ไม่ว่าจะมาในรูปแบบของการจบความสัมพันธ์กับใครสักคนหนึ่ง การที่คนอื่นไม่รับฟังความเห็นและไม่เห็นค่าในสิ่งที่เป็น การถูกปฏิเสธความหวังดี หรือต้องหยุดทำสิ่งตัวเองรักสามารถนำไปสู่ความเครียดและความเสียใจที่รุนแรงได้
  • ฟีดแบ็คที่เถรตรงเกินไป: คนประเภท Feeling ให้ความสำคัญกับการรักษาน้ำใจในความสัมพันธ์เป็นอย่างมากและจะพยายามใช้วาทศิลป์ในการสื่อสารเรื่องที่ไม่น่าฟังกับคนอื่นๆ ด้วยความระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง จึงมีความคาดหวังให้คนรอบตัวทำเช่นเดียวกัน หลายครั้ง พวกเขาใส่ความเป็นตัวเองเข้าไปในสิ่งที่ตัวเองทำ การได้รับฟีดแบ็คที่ตรงเกินไปจึงอาจทำให้รู้สึกว่าถูกปฏิเสธอย่างแรง สิ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อความมั่นใจในความสามารถและคุณค่าที่พวกเขามีให้กับตัวเอง และอาจนำไปสู่ความขัดแย้งที่ทำให้เครียดกว่าเดิม

พฤติกรรมภายใต้ความเครียด:

  • แสดงอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและรุนแรง มีเหตุผลน้อยลง หลีกเลี่ยงการตัดสินใจและการเผชิญหน้า
  • โฟกัสที่ปัญหามากเกินไป มองโลกในแง่ร้ายหรือแคบลง มองไม่เห็นภาพรวมหรือผลกระทบวงกว้าง
  • ต้องการการยอมรับและการสนับสนุนมากกว่าเดิม รวมทั้งคาดหวังให้คนอื่นๆ มีพฤติกรรมที่ตนต้องการเกินความเป็นจริง
  • ไม่สามารถอธิบายความต้องการตามหลักเหตุผลได้ บางครั้งพูดถึงความรู้สึกได้ไม่ชัดเจนและวนไปวนมา 

คำแนะนำเพื่อการดูแลตัวเอง:

  • หาเพื่อนที่จริงใจ รู้จักตัวตนของเรา และหวังดีกับเรา: สำหรับ Feeling ที่ต้องการบรรยากาศที่เป็นมิตร การมีเพื่อนสักคนที่เข้าใจ พร้อมรับฟัง คอยปลอบใจและให้การสนับสนุน ช่วยให้ความรู้สึกปลอดภัยทางอารมณ์ได้เป็นอย่างดี หากไม่สามารถมีเพื่อนที่ทำหน้าที่นี้ให้กับเราได้ในที่ทำงาน ควรนัดพบเพื่อนสนิทหรือคนที่ไว้ใจเป็นประจำเพื่อพูดคุยปรึกษาหรือทำกิจกรรมร่วมกัน และควรฝึกการเป็นเพื่อนที่ดีให้กับตัวเอง โดยการรับฟังความต้องการของตัวเอง พูดกับตัวเองในแง่บวก ใช้เวลากับตัวเองอย่างมีคุณภาพ และไม่ลืมฉลองความสำเร็จให้กับตัวเองไม่ว่าเล็กหรือใหญ่
  • ทำกิจกรรมที่ช่วยสานความสัมพันธ์กับคนในทีม: เข้าร่วมกิจกรรมกับคนในทีมเพื่อพัฒนาความสัมพันธ์อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้รู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งกับทีมมากขึ้นและไม่โดดเดี่ยว เช่น การไปรับประทานอาหารร่วมกัน ดูหนัง ทำกิจกรรมที่บริษัทจัดให้ ออกกำลังกายร่วมกัน หรือไปเที่ยวด้วยกัน เป็นต้น
  • ฝึกการสื่อสารอย่างเปิดเผย: การสามารถสื่อสารความคิดความรู้สึก ไอเดียต่างๆ หรือความเห็นได้อย่างเปิดเผยจะช่วยให้รู้สึกว่าได้รับการยอมรับและมีคนเข้าใจ ช่วยลดความเครียดจากการถูกเข้าใจผิด และเปิดโอกาสให้ได้รับความช่วยเหลือโดยไม่ต้องแก้ปัญหาเพียงลำพัง
  • ฝึกให้อภัยและเมตตาตัวเอง: โดยธรรมชาติ Feeling มักสร้างข้อยกเว้นให้กับความผิดพลาดของคนอื่นได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นเพราะรู้สึกเห็นอกเห็นใจ เข้าใจ หรือไม่อยากทำให้เขารู้สึกแย่ แต่กลับลืมสร้างข้อยกเว้นเหล่านี้ให้กับตัวเองและละเลยความต้องการของตัวเองไปในหลายๆ ครั้ง ฝึกกล่าวชมและให้กำลังใจตัวเอง กำหนดขอบเขตของการให้ความช่วยเหลือคนอื่นและทำตามความต้องการของตนโดยไม่ต้องรู้สึกผิด รวมทั้งให้อภัยกับความผิดพลาดน้อยใหญ่ทั้งที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจให้เกิดขึ้น เพื่อไม่ให้เสียเวลาและพลังงานไปกับการโบยตีตัวเองและหันไปโฟกัสกับการพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นในครั้งต่อๆ ไป
  • สร้างความผ่อนคลายด้วยกิจกรรมที่ตัวเองรัก: หากรู้สึกว่าเราใช้เวลากับการทำงานมากเกินไปจนละเลยกิจกรรมด้านอื่นๆ ในชีวิต ลองผ่อนคลายความเครียดจากการทำงานที่เต็มไปด้วยการพุ่งเป้าและการทำตามความคาดหวังด้วยการทำกิจกรรมที่ตนสนใจหรือรู้สึกชอบเป็นพิเศษ เช่น การทำงานอดิเรกต่างๆ หรือ การออกกำลังกายเบาๆ นอกจากนี้ ลองเลือกกิจกรรมที่สามารถทำกับคนรักได้เพื่อพัฒนาความสัมพันธ์กับคนสำคัญในชีวิตให้แข็งแรง

 

การเข้าใจวิธีการตัดสินใจจากการศึกษารูปแบบบุคลิกภาพ MBTI® ช่วยให้เราสามารถดูแลความคาดหวังของตัวเองที่มีต่อคนอื่นได้ รวมทั้งยังทำให้เรามีแนวทางในการพัฒนาวิธีการจัดการกับปัญหาที่เกี่ยวกับงานและความสัมพันธ์ต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม สิ่งนี้เป็นพื้นฐานที่สำคัญสำหรับการพัฒนาตนเองด้านกระบวนการคิด การบริหารจัดการอารมณ์ความรู้สึก และการตระหนักรู้ในพฤติกรรมของตัวเองว่ากำลังสนับสนุนให้จิตใจของเราแข็งแรงหรือกำลังบั่นทอนความสามารถในการต่อสู้กับความเครียดเมื่อเผชิญหน้ากับความท้าทาย

 

สามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ [email protected] หรือโทร 02 258 6930-35