ทำไม MBTI ถึงช่วยแก้ไขความขัดแย้งในทีมได้

“Teamwork makes the dream works ความฝันจะเป็นจริงได้ถ้ามีการทำงานเป็นทีมที่ดี” ประโยคนี้เองก็คงเป็นฝันของคนทำงานหลายคนเช่นกัน เพราะความสำเร็จในการทำงานไม่ได้เกิดขึ้นจากใครคนใดแค่เพียงคนเดียว เราต้องอาศัยความถนัดเชี่ยวชาญของหลายๆคนในทีม เพื่อให้งานขับเคลื่อนไปข้างหน้าจนถึงจุดหมายได้ แต่เมื่อมีคนหลากหลาย ความคิดเห็นและวิธีการทำงานก็หลากหลายตามไปด้วย ซึ่งถ้าต่างฝ่ายต่างไม่เข้าใจกัน ไม่ยอมรับความเห็นหรือวิธีการที่แตกต่าง ก็จะทำให้เกิดความขัดแย้งในการทำงานได้ง่าย และส่งผลเสียกับผลงานของทีมในที่สุด เหมือนพิมพ์กับนัทในสถานการณ์ต่อไปนี้

 

พิมพ์และนัทอยู่ในทีมการตลาด และได้รับมอบโปรเจคการสร้างแคมเปญการตลาดสำหรับเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ งานนี้รวมการออกแบบโฆษณา สร้างสื่อประชาสัมพันธ์ และเนื้อหาออนไลน์เพื่อโปรโมทผลิตภัณฑ์  พิมพ์เป็นผู้จัดการโครงการ ส่วนนัทเป็นคนออกแบบกราฟฟิก และเขียนเนื้อหา

 

พิมพ์สังเกตเห็นว่านัทใช้เวลามากในการปรับแต่งคำและการออกแบบส่วนหนึ่งของงาน เธอกังวลเรื่องกำหนดส่งงานที่ใกล้เข้ามา เธอจึงพูดขึ้นในที่ประชุมทีมว่า

“นัท เราต้องเร่งมือแล้วนะ เราไม่มีเวลามาแก้ไปแก้มาอีกแล้ว กำหนดส่งงานคืออีกสองวัน ถ้ามันจะไม่ทันนัทควรบอกพี่ พี่ไม่สามารถรับความล่าช้าของนัทได้ละนะ!”

นัทไม่สบายใจกับการถูกตำหนิในที่ประชุมและรู้สึกว่าพิมพ์ไม่เห็นคุณค่าในงานของเขา เขาจึงตอบกลับอย่างเบาๆ ว่า

“ผมเข้าใจความสำคัญของกำหนดส่งงาน แต่ผมคิดว่าคุณภาพของเนื้อหาและการสื่อความหมายได้อย่างที่เราต้องการก็สำคัญไม่แพ้กัน การเร่งงานนี้เกินไปอาจทำให้เราไม่ได้สิ่งที่ดีที่สุดและสิ่งที่เราต้องการสื่ออาจเสียหายได้นะครับ”

พิมพ์ที่รู้สึกกดดันจากกำหนดส่งงาน ตอบกลับอย่างเคร่งเครียดว่า

“แต่เราต้องอยู่บนความเป็นจริงนะนัท ตามขั้นตอนงานเราควรพร้อมส่งงานแล้ว ถ้าเราไม่ทำให้เสร็จตรงเวลา โครงการนี้อาจจะพังได้ เราต้องให้ความสำคัญกับการทำงานให้เสร็จตามเวลาไม่ใช่การทำตามใจเรา”

นัทรู้สึกว่าไม่ได้รับความเข้าใจ เขาเริ่มรู้สึกไม่พอใจและหยุดการสนทนา คิดในใจว่า

“พิมพ์ไม่สนใจความหมายลึกซึ้งของงาน สนใจแต่ให้เสร็จเท่านั้น เธอไม่เห็นคุณค่าในความพยายามของเราเลย”

 

มาถึงตรงนี้เชื่อว่า คนที่มีบุคลิกลักษณะเหมือนพิมพ์คงแอบอึดอัดและหงุดหงิดกับนัท ส่วนใครที่คิดว่าคล้ายๆกับนัทก็อาจไม่ชอบและน้อยใจกับคำพูดของพิมพ์ ถ้าเรามองแบบทั่วๆไป เราอาจคิดว่ามันคือความขัดแย้งจากการที่ทั้งคู่ทำงานกันคนละหน้าที่ เหมือนงานหน้าบ้านที่ขัดแย้งกับงานหลังบ้าน เหมือนฝ่ายขายที่ขัดแย้งกับฝ่ายการตลาด แต่เมื่อเราลองใช้ MBTI วิเคราะห์บุคลิก ลักษณะของพิมพ์และนัทแล้ว เรากลับเจอสิ่งที่น่าสนใจ และมีคำตอบที่ช่วยทำให้พิมพ์และนัทเข้าใจกันมากขึ้น และแก้ไขความขัดแย้งที่เกิดขึ้นได้ไม่ยากเลย

 

ในเหตุการณ์สมมตินี้ พิมพ์เป็น ESTJ ส่วน นัทเป็น INFP ซึ่งตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง และไม่น่าแปลกใจเลยที่เกิดความขัดแย้งแบบนี้ ลองมาทำความเข้าใจพิมพ์และนัทผ่านทีละคู่ preference ของ MBTI กัน

 

คู่แรก Extravert และ Introvert

พิมพ์เป็น E เป็นคนชอบสื่อสาร คิดเร็วพูดเร็ว คิดอะไรพูดเลย จนบางครั้งอาจหลุดคำพูดมาก่อนความคิด

นัทเป็น I ไม่ค่อยชอบสื่อสารด้วยคำพูด คิดเยอะก่อนพูด ทำให้พูดช้า หรือเก็บไว้ไม่พูดเลย

ความขัดแย้งในที่นี้เกิดจากการที่พิมพ์มองว่านัทไม่พูด ไม่เปิดใจคุย ในขณะที่นัทรู้สึกว่าสิ่งที่พิมพ์พูดดูเหมือนมากเกินไป จนทำให้นัทรู้สึกไม่ปลอดภัยที่จะคุยต่อ

 

คู่ที่สอง Sensing และ Intuition

พิมพ์เป็น S ชอบทำงานตามขั้นตอน เน้นรายละเอียด

นัทเป็น N มองภาพรวม เน้นความคิดสร้างสรรค์

ความขัดแย้งในที่นี้เกิดจากนัทไม่ทำตามขั้นตอน และขาดความชัดเจนในงาน ในขณะที่นัทมองว่าพิมพ์ย้ำรายละเอียดขั้นตอนจนเกินไป จนเป็นอุปสรรคกับความคิดสร้างสรรค์

 

คู่ที่สาม Thinking และ Feeling

พิมพ์เป็น T ตัดสินใจจากเหตุผล หลักการ วัตถุประสงค์

นัทเป็น F ตัดสินใจจากความรู้สึก สิ่งที่ให้คุณค่า

ความขัดแย้งในที่นี้เกิดจากพิมพ์มองว่านัทไม่สามารถทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ และไม่สนใจเป้าหมายเวลา ส่วนนัทมองพิมพ์ว่าไม่ใส่ใจคุณค่าของงานและความรู้สึกของนัทที่ทุ่มเททำงาน

 

คู่ที่สี่ Judging และ Perceiving

พิมพ์เป็น J ชอบจัดการและทำงานให้เสร็จก่อนกำหนด

นัทเป็น P ชอบความยืดหยุ่นและเปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์

ความขัดแย้งในที่นี้เกิดจากพิมพ์มองว่านัทไม่ทำตามแผน และต้องการเห็นงานเสร็จก่อนกำหนดส่ง ส่วนนัทมองพิมพ์ว่ากดดันจนเกินไปและไม่มีความยืดหยุ่นทั้งที่ยังมีเวลาอีกสองวัน

 

ถ้านัทและพิมพ์เข้าใจความแตกต่างเหล่านี้ ความขัดแย้งทั้งในการทำงาน และความขัดแย้งที่อยู่ในใจก็จะน้อยลง และถ้าได้เพิ่มเทคนิคการปรับตัวเข้าหากันตามคำแนะนำด้านล่างนี้ ก็จะทำให้การทำงานมีปัญหาน้อยลง เป็นทีมที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

Extravert และ Introvert

สำหรับ Extravert (E) เพื่อปรับตัวให้เข้ากับ Introvert (I)

– ให้พื้นที่: อนุญาตให้ Introvert ได้มีเวลาในการคิดและประมวลผลข้อมูลก่อนที่จะคาดหวังคำตอบ อย่ากดดันด้วยการมีปฏิสัมพันธ์มากเกินไป

– เคารพเวลาส่วนตัว: เข้าใจว่า Introvert อาจต้องการเวลาส่วนตัว หากพวกเขาดูเหมือนจะเก็บตัว อย่าคิดว่ามีอะไรผิดปกติ พวกเขาอาจแค่ต้องการเวลาเพียงลำพัง

– ฟังมากขึ้น: ฝึกการฟังอย่างตั้งใจและหลีกเลี่ยงการขัดจังหวะ Introvert อาจใช้เวลานานกว่าในการแสดงความคิด ดังนั้นจงอดทนและให้เวลาพวกเขาได้แชร์ความคิดเห็น

 

สำหรับ Introvert (I) เพื่อปรับตัวให้เข้ากับ Extravert (E):

– มีส่วนร่วมอย่างแข็งขัน: พยายามมีส่วนร่วมในการสนทนาและกิจกรรมทางสังคม แม้จะอยู่นอกเขตความสะดวกสบายของคุณก็ตาม Extravert มักให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมทางการสนทนาพูดคุย

– เปิดใจ: แบ่งปันความคิดและไอเดียของคุณอย่างเปิดเผย แม้ว่าพวกมันจะยังไม่สมบูรณ์ Extravert ชอบการแลกเปลี่ยนความคิดแบบไดนามิก

– เริ่มต้นการติดต่อ: อย่ารอให้ Extravert เข้ามาหาคุณทุกครั้งไป การเริ่มต้นการสนทนาหรือการทำงานร่วมกันสามารถช่วยปรับสมดุลการมีปฏิสัมพันธ์ได้

 

Sensing (S) และ Intuition (N)

สำหรับ Sensing (S) เพื่อปรับตัวให้เข้ากับ Intuition (N):

– ชื่นชมภาพรวม: พยายามมองเห็นภาพรวมกว้างหรือรูปแบบที่อยู่เบื้องหลัง การทำเช่นนี้จะช่วยให้คุณเข้าใจไอเดียของพวกเขาได้ดีขึ้น

– เปิดรับไอเดียใหม่ๆ: อย่าปฏิเสธแนวคิดที่ดูเป็นนามธรรมหรือจินตนาการ Intuition มักนำเสนอวิธีแก้ปัญหาใหม่ๆ ที่สร้างสรรค์

– ขอวิสัยทัศน์: กระตุ้นให้ Intuition อธิบายวิสัยทัศน์หรือเป้าหมายระยะยาวของพวกเขา สิ่งนี้จะช่วยให้คุณเชื่อมโยงไอเดียที่เป็นนามธรรมกับขั้นตอนการปฏิบัติที่คุณถนัด

 

สำหรับ Intuition (N) เพื่อปรับตัวให้เข้ากับ Sensing (S):

– เชื่อมโยงไอเดียกับสิ่งที่จับต้องได้: พยายามเชื่อมโยงไอเดียของคุณกับตัวอย่างที่เป็นจริงในโลก สิ่งนี้จะช่วยให้ Sensing มองเห็นความเป็นไปได้และคุณค่าของแนวคิดของคุณ

– ให้ความสำคัญกับรายละเอียด: ใส่ใจในรายละเอียดและข้อเท็จจริงที่เป็นรูปธรรม ทำให้มั่นใจว่าไอเดียของคุณเข้าใจได้ง่ายและสามารถนำไปปฏิบัติได้

– ให้ความสำคัญกับปัจจุบัน: แม้ว่าคุณจะชอบคิดเกี่ยวกับอนาคต แต่พยายามอยู่กับปัจจุบันและมุ่งเน้นที่ความเป็นจริงในขณะนั้น


Thinking (T) และ Feeling (F)

สำหรับ Thinking (T) เพื่อปรับตัวให้เข้ากับ Feeling (F):

– แสดงความเห็นอกเห็นใจ: ยอมรับและคำนึงถึงอารมณ์และผู้คน Feeling มักชอบให้ความรู้สึกและความสัมพันธ์ถูกนำมาพิจารณาเวลาตัดสินใจ

– ใช้การสื่อสารที่นุ่มนวล: การให้คำติชมควรทำอย่างระมัดระวังและคำนึงถึงความรู้สึกของผู้อื่น คิดถึงผลกระทบของคำพูดของคุณให้มากขึ้น

– ให้ความสำคัญกับความสามัคคี: สร้างความเห็นพ้องต้องกันและรักษาความสามัคคีในกลุ่ม โดยตระหนักว่า Feeling มักให้ความสำคัญกับการรักษาความสัมพันธ์ที่ดี

 

สำหรับ Feeling (F) เพื่อปรับตัวให้เข้ากับ Thinking (T):

– ใช้เหตุผลมากขึ้น: เมื่อพูดคุยเรื่องต่างๆ พยายามมุ่งเน้นไปที่ข้อเท็จจริงและตรรกะ Thinking ให้ความสำคัญกับการโต้เถียงที่มีเหตุผลและเป็นกลาง

– ยอมรับความตรงไปตรงมา: เข้าใจว่า Thinking อาจสื่อสารโดยตรงและชัดเจน อย่ารู้สึกว่าสิ่งนี้เป็นเรื่องส่วนตัว พวกเขามักมุ่งเน้นที่การแก้ปัญหา

– ให้ความสำคัญกับความยุติธรรม: เน้นความยุติธรรมและความเสมอภาคในการตัดสินใจ


Judging (J) และ Perceiving (P)

สำหรับ Judging (J) เพื่อปรับตัวให้เข้ากับ Perceiving (P):

– ยืดหยุ่น: ยอมรับการเปลี่ยนแปลงในนาทีสุดท้ายและความไม่แน่นอนบ้าง Perceiving มักทำงานได้ดีในสภาพแวดล้อมที่ยืดหยุ่นและเปิดกว้าง

– หลีกเลี่ยงตารางเวลาที่เข้มงวด: พยายามไม่บังคับใช้กำหนดเวลาหรือกำหนดการที่เข้มงวดกับ Perceiving ให้พวกเขามีตัวเลือกและเปิดกว้างในการสำรวจความเป็นไปได้ต่างๆ

– สนับสนุนการสำรวจ: ยอมรับว่า Perceiving อาจต้องสำรวจตัวเลือกหลายๆ อย่างก่อนที่จะตัดสินใจ ส่งเสริมการสำรวจนี้แทนที่จะเร่งรีบสู่ข้อสรุป

 

สำหรับ Perceiving (P) เพื่อปรับตัวให้เข้ากับ Judging (J):

– เคารพกำหนดเวลา: พยายามยึดตามระยะเวลาที่ตกลงกันและกำหนดการที่กำหนดไว้ Judging ให้ความสำคัญกับการคาดการณ์และความน่าเชื่อถือ

– ตัดสินใจอย่างเด็ดขาด: ฝึกการตัดสินใจที่รวดเร็วขึ้นและยึดมั่นในสิ่งที่ตัดสินใจไปแล้ว สิ่งนี้จะช่วยลดความหงุดหงิดที่ Judging อาจรู้สึกเมื่อมีการตัดสินใจที่ยังคงค้างคาอยู่

– จัดระเบียบงานของคุณ: พยายามนำวิธีการจัดการงานมาใช้ แม้ว่ามันอาจจะไม่ใช่ธรรมชาติของคุณ Judging จะชื่นชมแผนการและโครงสร้างที่ชัดเจน

 

การทำความเข้าใจและเคารพในความแตกต่างเหล่านี้สามารถช่วยลดความขัดแย้งและเพิ่มความร่วมมือในที่ทำงานได้ การปรับตัวเพื่อให้สอดคล้องกับ preferences ของผู้อื่นจะช่วยให้เกิดสภาพแวดล้อมการทำงานที่มีความกลมกลืนและมีประสิทธิภาพมากขึ้น และคำว่า Teamwork makes the dream works ก็จะเกิดขึ้นได้ไม่ยากเลย

สามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ [email protected] หรือโทร 02 258 6930-35