เทคนิคการใช้ MBTI เพื่อแก้ไขความขัดแย้ง

“ทำแบบประเมิน MBTI แล้วผลออกมาตรงข้ามกับแฟนทุกคู่เลย น้องเนยเป็น ENFP พี่หมูเด้งเป็น ISTJ มิน่าล่ะทะเลาะกันตลอดๆ แบบนี้จะไปกันรอดมั้ยเนี่ย หรือน้องเนยควรทิ้งพี่หมูเด้งไปคบคนที่เป็นไทป์เดียวกัน จะได้ไม่มีปัญหากัน”

เดี๋ยวก่อนๆๆ น้องเนยอย่าเพิ่งรีบด่วนสรุปแบบนี้ คนไทป์เดียวกันไม่ได้หมายความว่าจะไม่ขัดแย้งกัน และคนที่ไทป์ตรงข้ามก็ไม่ได้หมายความว่าจะเข้ากันไม่ได้ มาทำความเข้าใจเรื่องนี้กันก่อนนะน้องเนย

MBTI ที่น้องเนยทำแบบประเมิน เป็นเครื่องมือที่แบ่งคนเป็น 16 บุคลิกภาพ จาก 4 คู่ความพึงใจ (อ่านบทความเพิ่มเติมเกี่ยวกับ MBTI คืออะไร?) ถึงแม้จะมี 4 คู่ความพึงใจ แต่มีสองคู่ที่มีผลต่อการเกิดความขัดแย้งได้มากกว่าอีกสองคู่ที่เหลือ นั่นคือคู่ที่ 3 และ 4 คือเรื่องของการตัดสินใจ การจัดการปัญหาและสถานการณ์ ดังนั้นเพื่อลดโอกาสการเกิดความขัดแย้ง และแก้ไขความขัดแย้งที่เกิดขึ้นได้ตรงจุด เรามาโฟกัสคู่แห่งความขัดแย้งหรือที่เราเรียกว่า Conflict pair กัน

คู่แห่งความขัดแย้ง (Conflict Pair) ใน MBTI

Thinking-Judging (TJ)

ได้แก่ไทป์ ISTJ, INTJ, ESTJ, ENTJ

TJ มักจะถูกมองว่ามีเหตุผล ชอบวิจารณ์ และแสดงความเก่งในการตัดสินใจจากข้อมูลที่มีอยู่ คนอื่นๆ มักมองว่าพวกเค้าเป็นคนมีสติ วิเคราะห์เก่ง และมีความคิดชัดเจน สำหรับ TJ ความขัดแย้งมักเกิดจากเรื่องของอำนาจการตัดสินใจ การตั้งคำถามกับ TJ ถึงลำดับชั้นงาน, สายการบังคับบัญชา, ความอาวุโส, และบทบาทในการตัดสินใจอาจเป็นสัญญาณเตือนถึงความขัดแย้งได้เลย เมื่อเกิดความขัดแย้งพวกเค้าต้องการยุติความขัดแย้งนั้น หรือแก้ไขปัญหาให้เสร็จสิ้น จนอาจมองข้ามเรื่องของอารมณ์ความรู้สึก พวกเค้ายังสามารถเปลี่ยนจากความเห็นด้วย กลายเป็นความรุนแรงและโกรธเคืองได้อย่างรวดเร็วแม้ในสถานการณ์เดียวกัน

Thinking-Perceiving (TP)

ได้แก่ไทป์ ISTP, INTP, ESTP, ENTP

TP มักจะถูกมองว่าเป็นผู้วิพากษ์วิจารณ์และพร้อมที่จะตั้งคำถามใดๆ ที่เกี่ยวกับความขัดแย้งหรือผู้ที่เกี่ยวข้อง คนอื่นๆ มักจะมองว่าพวกเค้าชอบแสดงความเห็นค้านเพื่อท้าทายแนวคิดที่ถูกยอมรับ (เพื่อกระตุ้นความคิดเชิงลึกและพิจารณาด้วยความรอบคอบ) สำหรับ TP ความขัดแย้งมักจะเกิดขึ้นจากปัญหาของความไว้วางใจและความน่าเชื่อถือส่วนบุคคล เมื่อต้องเกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง พวกเค้าจะมีแรงผลักดันให้หาวิธีที่จะผ่านปัญหาต่างๆ ไปได้ ถึงแม้ว่าจะรับรู้ได้ถึงอารมณ์ที่เกี่ยวข้อง แต่พวกเค้าชอบที่จะวางสิ่งเหล่านี้ไว้ข้างๆ เพื่อให้เกิดการโต้แย้งที่เปิดเผยและเคารพซึ่งกันและกัน อย่างไรก็ตามการไม่คำนึงถึงความรู้สึก ส่งผลให้ TP ถูกมองว่าเป็นตัวเร่งความขัดแย้ง

Feeling-Judging (FJ)

ได้แก่ไทป์ ISFJ, INFJ, ESFJ, ENFJ

ในความขัดแย้ง FJ มักจะถูกมองว่าต้องการและมองหาความเป็นหนึ่งเดียวกัน คนอื่นๆ มักจะมองว่าพวกเค้าเป็นคนอบอุ่นและเอาใจใส่ มักรู้สึกไม่สบายใจกับความตึงเครียดในความขัดแย้ง สำหรับ FJ ความขัดแย้งมักจะเกิดขึ้นเมื่อความเชื่อหรือค่านิยมหลักของพวกเค้าถูกท้าทาย ในความขัดแย้งพวกเค้าจะกังวลถึงความสัมพันธ์ที่ดีในหมู่ผู้ที่เกี่ยวข้อง บางครั้งสิ่งนี้อาจทำให้พวกเค้าละเลยสัญญาณของความขัดแย้ง โดยหวังว่ามันจะหายไป หรือซ่อนมันไว้ใต้พรมเพื่อหลีกเลี่ยงการจัดการกับปัญหาที่เจ็บปวดที่อาจเกิดขึ้น FJ มักจะใช้อารมณ์ความรู้สึก และจะสนับสนุนให้ผู้อื่นแสดงความรู้สึกและความคิดเห็นโดยหวังว่าจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหา

Feeling-Perceiving (FP)

ได้แก่ไทป์ ISFP, INFP, ESFP, ENFP

FP มักถูกมองว่าเป็นคนที่ยอมรับมุมมองที่แตกต่างและยังถูกมองว่ายึดมั่นในค่านิยมของตนเอง สำหรับ FP ปัญหาความขัดแย้งมักเกี่ยวข้องกับสิ่งที่พวกเค้าหลงใหล ไม่ว่าจะเป็นค่านิยมหรือบุคคลที่สำคัญสำหรับพวกเค้า แม้ว่าโดยปกติ FP ไม่ได้อยากมีส่วนร่วมในความขัดแย้ง แต่พวกเค้าก็ยอมรับว่ามันจำเป็นเมื่อพวกเค้ามีคนที่ต้องใส่ใจมากๆ หรือมีสิ่งใดที่เกี่ยวข้อง ในสถานการณ์ขัดแย้งพวกเค้าสนใจถึงความคิดเห็น และความรู้สึกของทุกคน พวกเขาาเป็นคนอ่อนไหวต่อความขัดแย้งใดๆ รอบตัว

ตอนนี้น้องเนยและพวกเราก็ได้เข้าใจลักษณะความขัดแย้งของแต่ละ Conflict pair แล้ว และรู้ตัวแล้วว่าไทป์ของเรา มีแนวโน้มการเกิดความขัดแย้งได้จากอะไรบ้าง สำหรับตัวเราเอง การรู้ตัว การรู้เท่าทันความคิดของตัวเองได้ ก็ช่วยทำให้โอกาสเกิดความขัดแย้งน้อยลงแล้ว แต่การจัดการกับความขัดแย้งที่เกิดจากคนอื่นนี่สิจะทำยังไงได้บ้าง บทความนี้มีเคล็ดลับมาให้

เคล็ดลับการจัดการความขัดแย้งด้วย MBTI

Conflict pair Feeling-Perceiving (FP)

ให้เข้าใจและจำไว้ว่า FP

  • ไม่ชอบความขัดแย้ง แต่ก็ไม่รีบเร่งหาข้อยุติ พวกเค้าชอบให้มีเวลาที่จะฟังทุกคน
  • ไม่ต้องการถูกผูกมัดด้วยขั้นตอนและข้อกำหนดต่างๆ
  • ต้องการให้ผู้อื่นยอมรับค่านิยมหลักของพวกเค้า
  • ไม่โอเคกับการวิเคราะห์เชิงตรรกะที่มองข้ามผลกระทบเชิงลบที่อาจเกิดขึ้นกับผู้อื่น
  • ให้ความสำคัญกับคนมากกว่าปัญหา
  • จะใช้เวลาในการสำรวจความกังวลของผู้คน จนอาจทำให้ TJ รู้สึกหงุดหงิด ซึ่ง FP ก็จะมอง TJ ว่าไม่มีความอดทน
  • มีเจตนาที่จะให้ความคิดเห็น ความรู้สึก และค่านิยมของทุกคนได้รับการเคารพ

Conflict Pair Feeling-Judging (FJ)

ให้เข้าใจและจำไว้ว่า FJ

  • มองว่าความขัดแย้งเป็นประสบการณ์ที่ยากลำบาก
  • มองว่าทุกคนต่างก็มีความรู้สึก
  • รีบเร่งปิดฉากความขัดแย้งนั้นเพราะต้องการแน่ใจว่าไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ
  • จะเริ่มพิจารณาเรื่องอื่นๆ ได้ หลังจากแน่ใจว่าความกังวลและความรู้สึกของทุกคนได้รับความสนใจแล้วเท่านั้น
  • อาจก้าวต่อไปไม่ได้ ถ้าความรู้สึกไม่ดีเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เตรียมตอบคำถามเกี่ยวกับความรู้สึกของเรา เพราะเป็นสิ่งสำคัญที่ FJ จะต้องรู้
  • ต้องการแน่ใจว่าไม่มีใครจากไปพร้อมความขมขื่นใดๆ

Conflict Pair Thinking-Perceiving (TP)

ให้เข้าใจและจำไว้ว่า TP

  • เห็นว่าความขัดแย้งเป็นความท้าทายหรือเป็นเรื่องดี
  • ให้ความสำคัญกับกระบวนการในการแก้ไขความขัดแย้งพอๆ กับผลลัพธ์
  • ไม่รีบเร่งที่จะยุติความขัดแย้ง
  • จะแสดงความรู้สึกก็ต่อเมื่อพวกเค้าแน่ใจว่าทุกคนในที่นั้นไว้ใจได้เท่านั้น
  • รู้ดีว่าอำนาจอยู่ที่ใดในสถานการณ์นั้นๆ ต้องการมีอำนาจตัดสินใจและก็ต้องการสนับสนุนผู้ที่ด้อยโอกาสกว่า
  • ต้องการแน่ใจว่าความขัดแย้งนั้นได้ถูกมองจากทุกมุมแล้ว

Conflict Pair Thinking-Judging (TJ)

ให้เข้าใจและจำไว้ว่า TJ

  • เชื่อว่าพวกเขาถูกต้องและอาจดื้อรั้นเมื่อเผชิญกับมุมมองอื่น
  • ต้องการการแก้ปัญหาอย่างรวดเร็ว แต่ไม่ละเลยเรื่องสำคัญเพียงเพื่อก้าวต่อไป
  • ใช้ความเป็นกลางช่วยให้ทุกคนหาทางออกจากความขัดแย้งได้ แต่ก็อาจเกิดผลกระทบทางอารมณ์ที่แฝงอยู่
  • สนับสนุนให้ทุกคนสละเวลาฟังแต่ละฝ่าย
  • จะตอบสนองแบบสั้นกระชับ อย่าตีความว่าเป็นการตอบแบบห้วนๆ หรือไม่เคารพ
  • มองว่าการแสดงออกทางอารมณ์นั้นเป็นเรื่องยาก
  • เชื่อว่าเมื่อความขัดแย้งสิ้นสุดลง ก็คือสิ้นสุด อย่าพลาดโอกาสที่จะพูดในสิ่งที่เราต้องพูด

มาถึงตรงนี้ Conflict Pair FP อย่างน้องเนยก็มีเทคนิคการจัดการความขัดแย้งกับ Conflict Pair TJ ของพี่หมูเด้งแล้ว แค่น้องเนยและพี่หมูเด้งเข้าใจใน MBTI ก็สามารถช่วยจัดการความขัดแย้งและพัฒนาความสัมพันธ์ได้ไม่ยากเลย

ภายในทีมทำงานก็เช่นกัน ถ้าได้เข้าใจ Conflict Pair ของเพื่อนๆ ในทีมแล้ว ก็จะทำให้เราหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นความขัดแย้งของเพื่อนร่วมงานและรู้ตัวเองเวลามีตัวกระตุ้นความขัดแย้งของเรา ช่วยให้พัฒนาความสัมพันธ์และความร่วมมือภายในทีมได้ดี และถ้าทีมเราอยากลดและจัดการความขัดแย้งกันให้จริงจังมีประสิทธิภาพมากขึ้น เราสามารถปรึกษา MBTI เพื่อทำ Team Type Report และ Conflict report เพื่อให้ได้เห็นผลและคำแนะนำที่เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น

สามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ [email protected] หรือโทร 02 258 6930-35