สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับคนทั้ง 4 ประเภทเมื่อเกิดความขัดแย้ง

คนทั้ง 4 ประเภท กล่าวคือ คนประเภท TJ, TP, FJ, และ FP (อ่านบทความ เข้าใจความขัดแย้งในองค์กรง่ายๆ ผ่านเลนส์ MBTI® เพิ่มเติม) มีวิธีการตัดสินใจและจัดการกับโลกภายนอกแตกต่างกัน ส่งผลให้มีความกังวล สนใจ ใส่ใจไม่เหมือนกันเมื่อต้องเผชิญหน้ากับความขัดแย้ง การทำความเข้าใจกับลักษณะนิสัยของคนทั้ง 4 ประเภท ประกอบกับ การรู้เท่าทันถึงประเด็นปัญหาที่คนแต่ละกลุ่มมักรู้สึกว่าก้าวข้ามได้ยากเป็นพิเศษ จะช่วยให้การจัดการความขัดแย้งในแต่ละขั้นตอนเป็นไปอย่างราบรื่นมากยิ่งขึ้น 

ในบทความนี้ ทุกท่านจะได้เรียนรู้ถึงสิ่งที่ ควรรู้เกี่ยวกับคนทั้ง 4 ประเภท ในแต่ละขั้นตอนของการจัดการความขัดแย้ง
1. การให้พื้นที่
2. การเสนอทางออก
3. การหาข้อยุติ
(อ่านบทความ การจัดการความขัดแย้งด้วยเครื่องมือ MBTI® เพิ่มเติม) เพื่อเป็นแนวทางในการรับมือกับความหลากหลายอย่างมีประสิทธิภาพ 

สรุปลักษณะนิสัยในภาพรวมของคนทั้ง 4 ประเภท  

คนประเภท TJ: 

Extraverted Thinking (Thinking + Judging)  

ชอบโครงสร้าง ความชัดเจน และการตัดสินใจที่เด็ดขาด ต้องการรีบหาข้อสรุปและผลลัพธ์ที่จับต้องได้ ไม่ชอบความกำกวมและการอยู่กับความรู้สึก 

คนประเภท TP: 

Introverted Thinking (Thinking + Perceiving)  

สนุกกับมุมมองที่หลากหลาย ขี้สงสัย ชอบแกล้งท้าทาย ต้องการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ ยืดหยุ่น สนใจทางเลือกและไอเดียใหม่ๆ ไม่ชอบเร่งรัดตัดจบหากยังสำรวจประเด็นไม่ครบ 

คนประเภท FJ: 

Extraverted Feeling (Feeling + Judging) 

เน้นความสัมพันธ์ ต้องการการแสดงออกทางความรู้สึก ความกลมเกลียว รวมทั้งบทสรุปที่ยังคงรักษาความสัมพันธ์อันดีไว้ได้ อึดอัดกับความตึงเครียด 

คนประเภท FP:  

Introverted Feeling (Feeling +Perceiving)  

ต้องการฟังเรื่องราวจากทุกด้าน การยอมรับมุมมองที่แตกต่าง และการเคารพค่านิยมของแต่ละคน ไม่ชอบให้คนอื่นลดทอนสิ่งที่ตัวเองให้ค่า 

 คนทั้ง 4 ประเภท กับ ขั้นตอน การให้พื้นที่ 

การให้พื้นที่เป็นขั้นตอนนี้เน้นการเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้แสดงความเห็น ไอเดีย และข้อเท็จจริงในมุมมองของตนเองอย่างเปิดกว้าง เพื่อให้ทุกคนได้ร่วมกันตรวจสอบข้อสันนิษฐานและเจตนาของกันและกันและทำความเข้าใจถึงสาเหตุของความขัดแย้งจากหลายๆ ด้าน 

สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับคนประเภท TJ ในขั้นตอนนี้ 

  • มักรู้สึกกังวลและไม่สบายใจ รวมทั้งอาจรู้สึกกลัวความไม่แน่นอนของผลลัพธ์ที่จะตามมาและสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ 
  • อาจข้ามขั้นตอนการรับฟังไป ต้องช่วยย้ำให้เขาเข้าใจและเห็นคุณค่าในการรับฟังมุมมองของคนอื่นเพื่อประโยชน์ในการแก้ปัญหาที่ครอบคลุม  
  • หากให้ข้อมูลหรือออกความเห็นอย่างตรงไปตรงมาและสั้นกระชับ พวกเขามีแนวโน้มที่จะรับฟังและให้ความร่วมมือมากขึ้น 

สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับคนประเภท TP ในขั้นตอนนี้ 

  • มักมองว่าความขัดแย้งเป็นเรื่องดี เป็นการกระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนไอเดีย จึงไม่เร่งร้อนแก้ปัญหา 
  • ต้องการรู้กรอบความคิดหรือกระบวนการที่จะใช้ในการชวนถกประเด็นหรือพูดคุยเกี่ยวกับความขัดแย้ง เพื่อให้สามารถสำรวจไอเดียได้โดยที่ยังไปถึงเป้าหมาย  
  • เนื่องจากอยากสำรวจความเป็นไปได้ทั้งหมด อาจทำให้การแก้ปัญหาล่าช้า 

สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับคนประเภท FJ ในขั้นตอนนี้ 

  • มักมองว่าความขัดแย้งเป็นประสบการณ์ที่เจ็บปวดและไม่ดี 
  • อย่าลืมว่าความรู้สึกของทุกคนสำคัญสำหรับพวกเขา 
  • พวกเขาอาจรีบเร่งจัดการปัญหาให้จบเพื่อหลีกเลี่ยงความไม่สบายใจและความตึงเครียดจากความขัดแย้ง 

สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับคนประเภท FP ในขั้นตอนนี้ 

  • มักจะไม่เข้ามาข้องเกี่ยวกับความขัดแย้ง ยกเว้นว่าให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ ค่านิยม หรือประเด็นปัญหาในความขัดแย้งนั้นๆ เป็นพิเศษ  
  • การที่ทุกคนมีสิทธิ์มีเสียงอย่างเท่าเทียมกันคือสิ่งสำคัญกับพวกเขา 
  • พวกเขาอาจใช้เวลาไปกับการรับฟังมุมมองของคนที่เกี่ยวข้องนานเกินไป เพราะต้องการฟังเสียงทุกคน 

คนทั้ง 4 ประเภท กับ ขั้นตอน การเสนอทางออก 

การเสนอทางออกเป็นขั้นตอนการระดมหาวิธีการแก้ปัญหาที่ครอบคลุมที่สุดในการแก้ไขความขัดแย้ง ซึ่งควรคำนึงถึงทั้งเป้าหมายที่ต้องการไปให้ถึงและการรักษาความสัมพันธ์ของคนที่เกี่ยวข้อง ขั้นตอนนี้จำเป็นต้องมีการวิเคราะห์ทางเลือกที่แต่ละคนเสนอตามหลักเหตุผล ตามความเป็นจริง และมีความเป็นกลาง แต่ก็ต้องให้ความสำคัญกับความต้องการและความสนใจของแต่ละคนด้วย รวมทั้งรับฟังและยอมรับความแตกต่าง เพื่อนำไปสู่การหาจุดร่วมและทางออกที่ไม่มีฝ่ายใดรู้สึกเสียเปรียบมากกว่า 

สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับคนประเภท TJ ในขั้นตอนนี้ 

  • การเริ่มด้วยวิธีการที่เน้นเหตุผลจะทำให้เขารู้สึกว่าการแก้ปัญหามีพื้นฐานการคิดที่ชัดเจน ซึ่งจะช่วยให้เขาสนใจฟังและพิจารณามุมมองที่เกี่ยวกับความรู้สึกได้ง่ายขึ้น 
  • แม้จะฟังดูห้วนไปบ้าง การวิพากษ์วิจารณ์ของเขาไม่ได้เน้นโจมตีใครเป็นการส่วนตัว การเข้าใจสิ่งนี้จะช่วยลดความเข้าใจผิดระหว่างคนที่เกี่ยวข้อง 
  • การแชร์ความรู้สึกไม่ใช่เรื่องถนัดของเขา หากต้องการให้เขาเปิดใจ การมีพื้นที่ปลอดภัยที่เน้นการสนับสนุนและไม่ตัดสินสำคัญอย่างมาก 

สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับคนประเภท TP ในขั้นตอนนี้ 

  • เพื่อลดการต่อต้าน ควรวาดแผนภาพความขัดแย้งที่แสดงให้เห็นตัวเลือกในการแก้ปัญหาที่หลากหลาย 
  • การให้ความช่วยเหลือหรือสนับสนุนคนที่เป็นไก่รองบ่อนเป็นธรรมชาติของเขา 
  • หากต้องการถามหรือเชิญชวนให้เขาพูดถึงความรู้สึกของตัวเอง ต้องทำให้เขารู้สึกมั่นใจว่าทุกฝ่ายไว้ใจได้เสียก่อน 

สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับคนประเภท FJ ในขั้นตอนนี้ 

  • หากต้องการให้เขามีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง ต้องทำให้ทุกคนรู้สึกสบายใจและปลอดภัยที่จะพูดคุยกัน  
  • อารมณ์ความรู้สึกและการแสดงอารมณ์สำหรับพวกเขาไม่ใช่เรื่องหน้าอายหรือไม่เหมาะสม แต่เป็นการแสดงความจริงใจ 
  • หากมั่นใจแล้วว่าทุกคนรับฟังความรู้สึกและความกังวลของกันและกัน พวกเขาจะให้ความสำคัญกับปัจจัยอื่นๆ ในความขัดแย้งได้อย่างมีเหตุผลและใจเย็นมากขึ้น 

สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับคนประเภท FP ในขั้นตอนนี้ 

  • พวกเขาอาจไม่อยากถูกมัดกับขั้นตอนต่างๆ  
  • การวิเคราะห์ตัวเลือกตามหลักตรรกะซึ่งมีผลกระทบเชิงลบต่อคนอื่นไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับพวกเขา และจะพยายามหลีกเลี่ยง 
  • การดึงทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมเป็นสิ่งที่สำคัญกว่าตัวประเด็นปัญหา 

คนทั้ง 4 ประเภท กับ ขั้นตอน การหาข้อยุติ 

การหาข้อยุติเป็นขั้นตอนการระบุว่าเราจะดำเนินการอย่างไรต่อไปและสร้างข้อตกลงร่วมกันสำหรับการแก้ไขปัญหาให้ได้ผลลัพธ์ที่เป็นที่พอใจของทุกฝ่าย 

สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับคนประเภท TJ ในขั้นตอนนี้ 

  • มีแนวโน้มที่จะไม่พูดถึงความรู้สึกที่เกิดขึ้นในความขัดแย้ง และเมื่อความขัดแย้งจบลง พวกเขามักจะไม่ต้องการหยิบยกมันขึ้นมาพูดอีก เพราะฉะนั้น หากใครมีประเด็นค้างคาใจ ควรจัดการให้เรียบร้อยก่อนสรุปข้อยุติ 
  • ทุกฝ่ายต้องพร้อมลงมือทำตามข้อตกลงที่คุยกันไว้ 

สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับคนประเภท TP ในขั้นตอนนี้ 

  • เพื่อให้เป็นการหาข้อยุติอย่างยืดหยุ่น ใช้แผนภาพความขัดแย้งเดิมเป็นตัวไกด์หรือกระตุ้นให้เขาเลือกวิธียุติความขัดแย้งมา 1 ทาง 
  • พวกเขาอาจมีปัญหากับการยอมรับหรือทำตามวิธีการแก้ปัญหาที่เสนอ หากยังไม่ได้สำรวจทุกทางเลือกหรือยังมีประเด็นเรื่องความรู้สึกที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข  
  • ให้เวลาที่มากพอสำหรับการถกประเด็นก่อนหาข้อยุติ ไม่ว่าจะเป็นวิธีการแก้ปัญหา ข้อตกลงร่วมกันหรือสิ่งที่แต่ละฝ่ายต้องทำหลังจากนี้  

สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับคนประเภท FJ ในขั้นตอนนี้ 

  • หากมีความเกลียดชัง ความไม่พอใจระหว่างกัน หรือมีความหงุดหงิดใจหลงเหลืออยู่ เขาจะไม่สามารถจบเรื่องได้อย่างสบายใจ แม้ว่าการตัดสินใจจะเป็นเอกฉันท์แล้ว 
  • การให้ความสนใจอย่างยิ่งยวดกับความรู้สึกของทุกคนไม่ได้เป็นการตั้งใจสร้างความหงุดหงิดหรือพยายามเบี่ยงเบนประเด็นสำคัญ 
  • หากไม่ใครถามความเห็นเขาก่อนสรุปข้อยุติ โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับความรู้สึกและความสัมพันธ์ของคนที่เกี่ยวข้อง เขาอาจรู้สึกถูกกีดกันและไม่พอใจได้ 

สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับคนประเภท FP ในขั้นตอนนี้ 

  • พวกเขามักจะไม่รีบร้อนหาข้อยุติ 
  • สำหรับเขา การตัดสินใจตามหลักการและตรรกะ ไม่ได้แปลว่าปัญหาความขัดแย้งจะได้รับการแก้ไขอย่างแท้จริง สิ่งที่จะทำให้รู้สึกว่าทุกอย่างจบลงแล้วคือการสัมผัสได้ถึงความพอใจของทุกฝ่าย หรือการที่ทุกคนกลับมามีความรู้สึกดีๆ ต่อกัน 
  • ไม่ว่าผลสรุปจะเป็นอย่างไร พวกเขาต้องการรู้ว่าทุกคนยังคงเคารพในสิ่งที่เขาเชื่อ   

การเข้าใจความแตกต่างของลักษณะนิสัยและวิธีการจัดการความขัดแย้งของคนแต่ละประเภทเป็นกุญแจสำคัญในการรับมือกับสถานการณ์ที่ท้าทาย การใช้แนวทางที่เหมาะสมกับคนแต่ละประเภทประกอบกับความรู้เท่าทันความกังวลสนใจของพวกเขาในแต่ละช่วงเวลาที่กำลังเผชิญหน้ากับความตึงเครียดไม่เพียงแต่ช่วยลดความขัดแย้ง แต่ยังส่งเสริมการสร้างความสัมพันธ์ที่แข็งแรงและเป็นการแก้ปัญหาความขัดแย้งได้อย่างยั่งยืน

สามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ [email protected] หรือโทร 02 258 6930-35